ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาพบ ช้างแอฟริกันเรียกขานกันด้วยชื่อ


ภาพช้างแอฟริกันในเขตสงวนแห่งชาติซัมบูรู ประเทศเคนยา (ที่มา: George Wittemyer via AP)
ภาพช้างแอฟริกันในเขตสงวนแห่งชาติซัมบูรู ประเทศเคนยา (ที่มา: George Wittemyer via AP)

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวันจันทร์ที่ผ่านมานี้พบว่าช้างแอฟริกันเรียกขานกันด้วยชื่อแบบเฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นสัตว์ป่าจำนวนน้อยที่สามารถทำได้เช่นนี้ ตามการรายงานของเอพี

เสียงเรียกชื่อของช้าง จะอยู่ในส่วนหนึ่งของเสียงร้องโทนต่ำที่สามารถได้ยินจากที่ห่างไกลบนผืนหญ้าสะวันนา โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัตว์ที่มีโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อน และมีกลุ่มครอบครัวที่แยกห่างกันแล้วกลับมาพบกันใหม่บ่อยครั้ง จะสามารถเรียกกันด้วยชื่อได้

ในการศึกษาที่เผยแพร่ที่ชุมชนนักวิจัย Nature Ecology & Evolution นักชีววิทยาใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาเรียนรู้รูปแบบการใช้เสียงของช้างในทุ่งหญ้าสะวันนาที่เก็บและสะสมมาจากเขตสงวนแห่งชาติซัมบูรูและอุทยานแห่งชาติอัมโบเซลีในประเทศเคนยา และติดตามไปสังเกตการสื่อสารกันด้วยเสียงของช้าง ซึ่งการวิเคราะห์ก็พบว่าช้างมีการเรียกกัน 28% จากข้อมูลทั้งหมด

มิกกี้ พาร์โด นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้เป็นเจ้าของงานศึกษา ระบุว่า “ก็เหมือนกับมนุษย์ ช้างใช้ชื่อ แต่คงไม่ได้ใช้ชื่อในบทสนทนาส่วนใหญ่ เราจึงไม่คาดหวัง (ตัวเลข) ที่ 100%”

จอร์จ วิทเทมไมเออร์ ผู้ร่วมเขียนงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด กล่าวว่า “ช้างนั้นถือว่ามีความเป็นสังคมสูงมาก (ช้าง) มักพูดและสัมผัสกันและกัน การเรียกชื่อก็อาจเป็นหนึ่งสิ่งที่เน้นย้ำถึงทักษะในการสื่อสารกัน”

แม้การเรียกขานกันด้วยชื่อจะเป็นเรื่องปกติในหมู่มนุษย์ รวมถึงกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข แต่สำหรับสัตว์ป่านั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เห็นได้น้อยมาก ที่ผ่านมามีการค้นพบว่าแม่ปลาโลมาใช้ย่านเสียงที่ต่างจากระดับทั่วไปในการสื่อสารกับลูกปลาโลมา ซึ่งเสมือนกับการใช้ชื่อเรียก นอกจากนั้นก็มีนกแก้วที่อาจจะสามารถเรียกกันด้วยชื่อได้

สิ่งหนึ่งที่สัตว์ในสปีชีส์เหล่านี้มีเหมือนกับช้างแอฟริกัน ก็คือทักษะในการออกเสียงในรูปแบบใหม่ ๆ ได้เสมอตลอดช่วงชีวิต

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ชัดว่าส่วนไหนของเสียงช้างที่เป็นชื่อ และย่านเสียงของช้างนั้นอยู่ในพิสัยที่ต่ำกว่ามนุษย์จะได้ยิน แต่วิทเทมไมเออร์ก็กล่าวว่า “เราได้แง้มประตูดูความคิดของช้างนิดหน่อย”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG