ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เหตุใด 'ปธน.ดูเตอร์เต้' ได้รับความนิยมสูงในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ แม้มีวาจาและนโยบายเด็ดขาดรุนแรง?


Philippine President Rodrigo Duterte reviews honor guards upon his arrival at government airport Vnukovo II just outside Moscow, Russia, late Monday, May 22, 2017.
Philippine President Rodrigo Duterte reviews honor guards upon his arrival at government airport Vnukovo II just outside Moscow, Russia, late Monday, May 22, 2017.

ประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ของฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำประเทศฝีปากกล้า เขาเผชิญกับเสียงวิจารณ์จากนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังจากการปราบปรามขบวนการยาเสพติดที่ถูกมองว่าเปิดทางให้มีการฆ่าตัดตอน​

นอกจากนั้น วาจาของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เช่น การใช้คำหยาบขณะพูดถึงอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ยังสั่นคลอนต่อภาพลักษณ์และการยอมรับในเวทีโลก

แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ยังคงถือได้ว่าเป็นกำลังใจคือแรงสนับสนุนจากคนในประเทศ

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนฟิลิปปินส์ โดยหน่วยงาน Social Weather Stations เมื่อเดือนเมษายนชี้ว่า ชาวฟิลิปปินส์พอใจในรัฐบาลของประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ที่ระดับสูงถึงร้อยละ 75 ซึ่งไม่ต่างจากผู้นำคนก่อน คือประธานาธิบดีเบนิกโน่ อาคิโน่ มากนัก

Herman Kraft นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ วิทยาเขตดิลิมาน บอกว่า ตนคิดว่าประธานาธิบดีดูเตอร์เต้น่าจะยังคงรักษาระดับความนิยมเช่นนี้ต่อไปได้ยาวนานมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ หากว่าประชาชนยังเห็นว่าเขามีผลงานชัดเจน

ประชาชนภายในประเทศส่วนหนึ่งเห็นว่า ผู้นำวัย 72 ปีผู้นี้สามารถกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติด และสร้างความรู้สึกว่าบ้านเมืองเรียบร้อยขึ้นให้กับผู้สนับสนุนเขา

หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ระบุว่า มาตรการปราบผู้ค้ายาเสพติดของประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ประมาณ 7 พันรายจากเหตุวิสามัญฆาตกรรม

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนไม่นานนี้ชี้ว่า แม้ว่าคนฟิลิปปินส์ต้องการให้ทางการ “จับเป็น” ผู้ต้องหาค้ายาเสพติด แต่พวกเขามักจะรู้สึกว่าบ้านเมืองมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าสมัยที่ยังไม่มีการปราบปรามปัญหานี้ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีดูเตอร์เต้

ความพอใจสุทธิในมาตรการปราบยาเสพติดของประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ อยู่ที่ร้อยละ 66 ตามข้อมูลของ Social Weather Stations

ปัญหาท้าทายประธานาธิบดีดูเตอร์เต้อีกประการหนึ่งคือเรื่องกลุ่ม “มาวเต้” (Maute Group) ซึ่งเป็นขบวนติดอาวุธอิสลามหัวรุนแรงที่ประกาศความสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามไอเส

นักรบมาวเต้คุมพื้นที่ในเมืองมาราวีของฟิลิปปินส์ และทางการส่งทหารลงพื้นที่เพื่อโจมตีกลุ่มกบฏนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม การปะทะยืดเยื้อยาวนาน จนมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นเกือบ 400 คนที่เมืองดังกล่าว

แม้จะเป็นปฏิบัติการที่ไม่สามารถเผด็จศึกได้อย่างรวดเร็ว แต่ประชาชนฟิลิปปินส์เห็นว่ามาตรการของผู้นำฟิลิปปินส์สมเหตุสมผล และนักการเมืองในประเทศส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึกเมื่อเดือนที่แล้ว

สำหรับนโยบายต่างประเทศ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เสี่ยงที่จะสร้างมิตรภาพที่แข็งแกร่งขึ้นกับจีน และแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ประชาชนในประเทศร้อยละ 79 ไว้ใจสหรัฐฯ แต่ไม่เชื่อใจจีนร้อยละ 63 จากข้อมูลของบริษัท Pulse Asia เมื่อเดือนพฤษภาคม

Jay Batongbacal ผู้อำนวยการสถาบัน Maritime Affairs and Law of the Sea ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ วิทยาเขตกรุงมะนิลา กล่าวว่าระดับการไว้ใจจีนยังคงอยู่ที่จุดต่ำสุด และในทางกลับกัน คนฟิลิปปินส์ไว้ใจสหรัฐฯ ในระดับสูงสุด

อย่างไรก็ตาม สายสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์ที่ดูแนบแน่นขึ้นกับจีน ผ่านเงินลงทุนและเงินช่วยเหลือจากปักกิ่ง 2 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์ ยังคงไม่กระทบความนิยมของผู้นำฟิลิปปินส์

Jay Batongbacal กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวฟิลิปปินส์มองว่านโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องไกลตัว นอกจากนั้นนักวิเคราะห์บางราย เช่น Jonathan Ravelas จากธนาคาร Banco de Oro UniBank เห็นว่า การสนับสนุนด้านการเงินจากจีนสร้างผลดีที่จับต้องได้ให้กับชาวฟิลิปปินส์

เขากล่าวว่าการที่จีนช่วยสนับสนุนด้านการเงินต่อโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของฟิลิปปินส์ สร้างความตื่นตัวให้กับนักลงทุน และความมั่นใจของผู้บริโภคได้ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า การเดินหน้าในโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานช่วยให้โอกาสฟิลิปปินส์ไล่ตามประเทศไทยได้ เพราะที่ผ่านมาไทยสามารถดึงดูดการตั้งโรงงานและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมาก

(รายงานโดย Ralph Jennings / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG