เครื่องมือทางการเกษตรได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากในปัจจุบันเมื่อเทียบกับสมัยที่ เดล โคบ (Dale Cope) ยังเป็นเด็ก เขากล่าวว่า ตอนเป็นเด็ก เขามีหน้าที่ถอนวัชพืชในสวนโดยใช้จอบ แต่เดี๋ยวนี้ เขาไม่ต้องถือจอบไปถอนหญ้าอีกต่อไป เขาเพียงเเค่ส่งโดรนบินออกไปในจุดที่ต้องการกำจัดวัชพืชเท่านั้น
ปัจจุบัน โคบ เป็นรองศาสตราจารย์ด้านการปฏิบัติการที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม (Texas A&M) เขาและทีมงานนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังศึกษาว่า จะสามารถนำยวดยานทางอากาศแบบไร้คนบังคับ หรือโดรน ไปใช้งานด้านเกษตรกรรมเพื่อช่วยงานเกษตรกรได้อย่างไรบ้าง
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ภายในเวลา 10 ปีข้างหน้า โดรนอาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำการเกษตรเเบบอัฉริยะ หรือการเกษตรกรรมที่มีความเเม่นยำสูงสำหรับเกษตรกรทั่วโลก
โคบ กล่าวว่ าเราสามารถรู้ได้ว่าต้องฉีดยาฆ่าแมลงหรือใส่ปุ๋ยในจุดใดบ้างในไร่นา เเทนที่จะฉีดทั้งไร่
ในการเกษตรกรรมเเบบดั้งเดิม ผู้ให้คำปรึกษาด้านการปลูกพืชจะต้องเดินเท้าตรวจไร่ทั้งไร่เพื่อตรวจดูวัชพืช เเมลงศัตรูพืชเเละโรคพืช ซึ่งต้องใช้เวลานาน เสียค่าใช้จ่ายเเพงเเละไม่ถูกต้องแม่นยำทั้งหมด
มูตู บากาวาเทียนนาน (Muthu Bagavathiannan) นักวิจัยด้านวัชพืชเเละรองศาสตราจารย์ที่ภาควิชาดินเเละพืชที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม กล่าวว่า หากโดรนสามารถใช้งานในการเกษตรได้ จะช่วยประหยัดเวลาได้มากเเละจะมีประสิทธิผลมากกว่าและถูกต้องกว่าคน
โดรนที่ติดตั้งตัวเซ็นเซอร์หลายแบบสามารถบินเหนือไร่ได้เพื่อเก็บข้อมูลให้กับทีมนักวิจัย เพื่อช่วยในการระบุจุดที่มีปัญหา และช่วยตรวจพืชที่เติบโตเป็นปกติดี
Seth Murray ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะพันธุ์ข้าวโพดเเละรองศาสตราจารย์ที่ภาควิชาดินเเละพืชที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม กำลังศึกษาว่า โดรนช่วยเพาะพันธุ์พืชให้มีคุณภาพดีขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะข้าวโพด เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีผลตอบเเทนทางเศรษฐกิจสูงขึ้นจากพืชผลที่ปลูก
เขากล่าวว่า โดรนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถประเมินปริมาณผลผลิตที่จะได้ เเละช่วยในการพิจารณาว่าพืชชนิดใดปลูกได้ผลดีที่สุด ทีมนักวิจัยยังศึกษาด้วยว่า โดรนสามารถช่วยควบคุมวัชพืชได้อย่างไร
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ปัญหาส่วนมากที่พบในปัจจุบันเกิดจากวัชพืชที่ดื้อต่อยาฆ่าหญ้า และวัชพืชที่หลุดรอดจากมาตรการควบคุม เเละจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต และเเทนที่ต้องฉีดยาฆ่าหญ้าทั้งไร่ เกษตรกรจะสามารถใช้โดรนในการฉีดยาฆ่าหญ้ายาเฉพาะในจุดเป้าหมายเท่านั้น
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า อาจจะใช้เวลาอีกหลายปีก่อนที่จะมีโปรแกรมซอฟแวร์ที่ง่ายต่อการใช้งานออกมาให้เกษตรกรได้ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพสูงที่ได้จากโดรน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านงานเพาะพันธุ์พืชหรือช่วยตัดสินใจว่าเมื่อไหร่จึงควรฉีดยาฆ่าเเมลง
แต่ในขณะนี้ ทีมนักวิจัยกล่าวว่า โดรนช่วยให้คนที่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนสามารถบันทึกภาพวิดีโอหรือภาพนิ่งได้ เพื่อตรวจตราดูไร่นาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)