ในปัจจุบัน "โดรน" ยวดยานทางอากาศเเบบไร้คนขับ ถูกใช้ในงานขนส่งสิ่งของหลายอย่างด้วยกันทางอากาศ ตั้งเเต่ อาหาร ยารักษาโรคและเเม้เเต่สินค้าที่คุณสั่งซื้อทางออนไลน์จากบริษัท Amazon เเละในอีกไม่ช้า โดรนอาจจะถูกนำไปใช้ในงานกู้ชีพด้วย
Andreas Claesson เจ้าหน้าที่กู้ชีพชาวนอร์เวย์ บอกว่า เขารำคาญใจมากต่อความล่าช้าของรถพยาบาลฉุกเฉิน ในการเดินทางไปถึงตัวผู้ป่วยที่อาศัยในชนบทห่างไกล
Andreas Claesson กล่าวว่า รถพยาบาลฉุกเฉินไม่สามารถเข้าไปถึงพื้นที่ห่างไกล อย่างเช่น กลุ่มเกาะในสต็อกโฮล์ม เป็นต้น ซึ่งรถพยาบาลฉุกเฉินมักเดินทางไปถึงตัวผู้ป่วยบนเกาะล่าช้าเกือบ 30 นาทีในหลายกรณี
เขากล่าวว่า โดรนสามารถขนส่งเครื่องปั้มหัวใจและอุปกรณ์กอบกู้การทำงานของหัวใจให้ไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วกว่ามาก เเละระยะเวลาเพียงไม่กี่นาทีนี้ อาจหมายถึงความเป็นความตายของผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นภาวะที่มักอันตรายถึงชีวิต
Andreas Claesson กล่าวว่า เเค่นำโดรนไปวางบนหลังคาของสถานีดับเพลิงก็สามารถสั่งการให้โดรนออกเดินทางไปยังจุดหมายในภายในรัศมี 10 หรือ 15 หรือ 20 กิโลเมตร ได้ภายใน 5-6 นาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจาก 0 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 หรือ 30 หรือ 40 เปอร์เซ็นต์
ในขณะนี้ การใช้โดรนในงานกู้ชีพยังเป็นเพียงเเค่แนวคิดเท่านั้น เเต่การทดลองเบื้องต้นหลายครั้งแสดงให้เห็นว่า โดรนสามารถเดินทางไปถึงตัวผู้ป่วยได้เร็วกว่ารถพยาบาลฉุกเฉินถึง 4 เท่า
เเต่เเม้ว่าจะสามารถใช้งานได้จริง เเนวคิดการใช้โดรนในงานกู้ชีพนี้ยังเจอกับอุปสรรคอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับกฏระเบียบทางราชการ เเละการจัดการทั้งด้านการวางเเผน การดำเนินการ เเละการควบคุมการทำงาน
Andreas Claesson เจ้าหน้าที่กู้ชีพชาวนอร์เวย์ กล่าวว่า ต้องสามารถสื่อสารกับฝ่ายควบคุมการจราจรทางอากาศผ่านการใช้เครื่องรับส่งสัญญาณ จำเป็นต้องมีระบบเครือข่ายที่สามารถใช้การกล้องวงจรปิดระหว่างการเดินทางของโดรน และระหว่างการลงจอด
และจะดีขึ้นไปอีก หากมีแหล่งพลังงานที่แรงขึ้น เพื่อให้โดรนเดินทางไปได้ในพื้นที่ที่ห่างไกล
ทีมงานวางเเผนที่จะเริ่มต้นการทดลองกับคนในปีหน้า เพื่อดูว่าการใช้โดรนในงานกู้ชีพนี้จะช่วยกู้ชีวิตผู้ป่วยได้จริงหรือไม่
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)