อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ล้ำสมัยขึ้นเรื่อยๆ ได้สร้างประโยชน์ให้กับนักวิทยาศาสตร์ ตำรวจ และภาคธุรกิจ แต่ในทางกลับกันราคาของโดรนที่ถูกลงและหาซื้อได้ง่ายนั้น อาจเป็นช่องทางในการผลิตอาวุธสังหารแบบเคลื่อนที่เร็วได้ด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับวงการตำรวจ โดย Larry Satterwhite จาก Houston Police Department ในรัฐเท็กซัส บอกว่า เทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และในฐานะตำรวจก็ต้องเล่นไล่จับกับเทคโนโลยีที่ใช้ในทางมิชอบในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับที่ Richard Lusk นักวิทยาศาสตร์จาก Oak Ridge National Laboratory บอกว่า มีหลายเหตุการณ์ที่ใช้โดรนขนส่งยาเสพติดและอาวุธปืนไปให้กับนักโทษในเรือนจำสหรัฐฯ หรือในตะวันออกกลางได้ใช้โดรนทิ้งระเบิดเข้าทำร้ายพลเมืองเลยก็มี
คุณ Richard ย้ำว่า แนวทางรับมือการโจมตีจากโดรน สามารถทำได้ด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำลายระบบควบคุมระบบระบุพิกัดบนโลก หรือ GPS ที่อยู่ภายในโดรน และใช้คลื่นวิทยุรบกวนระบบการสื่อสารระหว่างโดรนและผู้ควบคุม
อย่างไรก็ตาม ในด้านมืดก็มีด้านสว่าง เพราะการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีโดรน อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้ได้เช่นกัน
อย่างอุตสาหกรรมเคมี ได้เลือกใช้อากาศยานไร้คนขับนี้เพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในและทำหน้าที่แทนมนุษย์ในงานที่เสี่ยงอันตราย ที่โรงกลั่นน้ำมัน Shell ใกล้กับเมือง Houston เริ่มใช้โดรนในงานเสี่ยงภัยแทนมนุษย์เมื่อปีก่อน
Gary Scheibe ตัวแทนจากโรงกลั่นน้ำมัน Shell บอกว่า ด้วยขนาดของโรงงานที่ใหญ่และสูงถึง 400 ฟุต การใช้โดรนช่วยบันทึกภาพโครงสร้างทั้งหมด และทำให้ทีมงานทราบสถานการณ์ได้สะดวกรวดเร็วกว่าการใช้เครื่องมืออื่นหรือพึ่งพามนุษย์
นอกจากโรงกลั่นน้ำมันแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฏหมายในสหรัฐฯหลายแห่ง ได้หันมาใช้เทคโนโลยีโดรนรูปแบบต่างๆ เช่น โดรนที่มีระบบตรวจจับอุณหภูมิเพื่อค้นหาเด็กที่หายตัวไป โดรนพร้อมระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุในความมืด หรือโดรนที่มีเครื่องตรวจจับก๊าซมีเทน และเครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ค้นหา กู้ภัย รวมทั้งเคลียร์พื้นที่ถนนหนทางที่จราจรติดขัดจากอุบัติเหตุหรือปัญหาจราจรได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
หรือทางการทหารอาจมีการพัฒนาโดรนขนาดเท่าแมลงที่ใช้ตรวจสอบพื้นที่เข้าถึงได้ยาก