ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'การดื่มแอลกอฮอล์' ในระดับปานกลาง อาจมีผลต่อสมองและความทรงจำ


การศึกษาชิ้นนี้อาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเรื่องประโยชน์ด้านสุขภาพจากการดื่มไวน์

ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิมชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาต่อสมองจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณในมาก

และเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม นักวิจัยที่ประเทศอังกฤษศึกษาผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ศึกษาผู้ดื่มแอลกอฮอล์ 8 ถึง 12 แก้วต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 30 ปี และตรวจผลกระทบต่อสมอง

กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยชิ้นนี้ คือผู้ที่ทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษ 550 คนที่ทางการอังกฤษระบุว่าดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง

ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งถึงสองแก้วต่อวัน ส่งผลให้โครงสร้างสมองเสื่อมสภาพได้ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพความทรงจำ

นักวิจัย Anya Topiwala ที่ทำการศึกษาชิ้นนี้ กล่าวว่า ส่วนของสมองที่หดตัวเรียกว่าส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ความเสียหายต่อสมองส่วนนี้มักเกี่ยวโยงกับปัญหาเรื่องความทรงจำ และเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยผู้นี้บอกว่าไม่มีหลักฐาน ณ ปัจจุบัน ที่ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ แม้เพียงในระดับปานกลาง จะสามารถทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

นอกจากนั้น เธอเน้นว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มที่เล็กและเฉพาะเจาะจงไปที่คนมีการศึกษา และฐานะค่อนข้างดี ดังนั้นข้อสรุปสำหรับประชากรในวงกว้างจะต้องอาศัยการเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่านี้

ในสหรัฐฯ มีความเชื่อที่ว่าการดื่มไวน์ในปริมาณหนึ่งแก้วถึงสองแก้วอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ

แต่นักวิจัย Anya Topiwala ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บอกว่าเป็นการยากที่จะใช้ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ไปยืนยันหรือแก้ไขความคิดดังกล่าว

เธอบอกว่าคงต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ใช่แค่ต่อสมอง แต่ควรรวมถึงหัวใจ และความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งด้วย เป็นต้น

แต่อย่างน้อย Anya Topiwala บอกว่าการศึกษาของเธอและคณะ น่าจะตั้งคำถามต่อความเชื่อเรื่องการดื่มไวน์ในสหรัฐฯ ได้อย่างแน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบประสาท Killian Welch จากโรงพยาบาล Royal Edinburgh เขียนในบทบรรณาธิการของวารสาร British Medical Journal ว่า การศึกษาชิ้นนี้อาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเรื่องประโยชน์ด้านสุขภาพจากการดื่มแอลกอฮอล์

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ British Medical Journal

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)

XS
SM
MD
LG