ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลทรัมป์ 2.0 กับสิ่งที่สหรัฐฯ และโลกต้องเตรียมพร้อมรับ


ว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเข้าร่วมกิจกรรมลุ้นผลการเลือกตั้ง เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา
ว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเข้าร่วมกิจกรรมลุ้นผลการเลือกตั้ง เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา

ตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 โดนัลด์ ทรัมป์ นำเสนอแผนงานมากมายที่ประกาศมั่นว่า ลงมือทำในฐานะผู้นำทำเนียบขาวสมัยที่ 2

อย่างไรก็ดี ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ไม่เคยได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานต่าง ๆ ในช่วงกว่าปีของการหาเสียงไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประกาศบนเวทีหรือในแถลงการณ์ที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งเอพีระบุว่า เป็นการผสมผสานแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าด้วยเรื่องภาษี กฎเกณฑ์และประเด็นด้านสังคม เข้ากับวิถีทางประชานิยมในเรื่องการค้าและการปรับเปลี่ยนบทบาทบนเวทีโลกของสหรัฐฯ

หากจะกล่าวโดยย่อ วาระต่าง ๆ ที่ทรัมป์ประกาศไว้จะส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลกลางในเรื่องสิทธิพลเมืองลดลง พร้อม ๆ กับการขยายอำนาจของประธานาธิบดี

ประเด็นผู้อพยพ-การตรวจคนเข้าเมือง

คำประกาศการ “สร้างกำแพง” ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 ได้กลายมาเป็นวาทะ “การเนรเทศผู้คนออกนอกประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” และทรัมป์ก็ยังได้เรียกร้องให้มีการใช้กองกำลังสำรองของรัฐและการให้อำนาจกองกำลังตำรวจในประเทศเพื่อดำเนินการที่ว่า

แต่ทรัมป์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่พอจะทำให้เข้าใจว่า โครงการนี้จะมีหน้าตาอย่างไรและประชาชนจะแน่ใจได้อย่างไรว่า การดำเนินแผนงานนี้จะพุ่งเป้าไปเพียงที่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายเท่านั้น โดยมีเพียงเสนอให้มี “การคัดกรองเกี่ยวกับความนึกคิด” สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าประเทศ การยุติการได้รับสิทธิเป็นพลเมืองสำหรับผู้ที่เกิดในสหรัฐฯ (ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดขึ้นจริง) และ จะมีการนำนโยบายบางอย่างกลับมาใช้ใหม่ เช่น การจำกัดผู้ที่อพยพเข้าประเทศด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุข และการจำกัดรุนแรงหรือสั่งห้ามผู้ที่มาจากประเทศมุสลิมบางประเทศ โดยทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์จะไม่เพียงจัดการเรื่องการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น แต่จะทำการตัดลงการอพยพเข้าเมืองโดยรวมด้วย

สิทธิการทำแท้ง

ทรัมป์ไม่ได้ยกประเด็นสิทธิการทำแท้งเป็นนโยบายที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้งสมัยที่ 2 แม้จะทวงบุญคุญว่า ตนเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการศาลสูงหัวอนุรักษ์นิยมเพิ่มจนทำให้มีการพลิกกลับคำตัดสินคดีที่ให้สิทธิในระดับรัฐบาลกลางแก่ผู้หญิงในการทำแท้งและส่งประเด็นกฎเรื่องการทำแท้งกลับไปยังรัฐบาลในระดับรัฐก็ตาม

ทรัมป์ยังมีดำริจนทำให้พรรครีพับลิกันไม่เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามการทำแท้งทั่วประเทศในการหาเสียงของพรรคเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ โดยกล่าวว่า การพลิกกลับคำตัดสินในคดี Roe V. Wade นั้นเพียงพอสำหรับเรื่องนี้ในระดับรัฐบาลกลางแล้ว ทั้งยังระบุผ่านโพสต์บนแพลตฟอร์มทรูธ โซเชียล (Truth Social) ของตนเมื่อเดือนที่แล้วด้วยว่า จะใช้สิทธิวีโต้กฎหมายรัฐบาลกลางที่จะสั่งห้ามการทำแท้ง ถ้ามีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้ตนลงนาม

นโยบายภาษี

นโยบายด้านภาษีของทรัมป์นั้นโน้มเอียงไปในทิศทางที่เกื้อหนุนบริษัทขนาดใหญ่และผู้มีอันจะกินในสหรัฐฯ โดยดูได้จากคำสัญญาที่จะขยายการดำเนินงานยกเครื่องภาษีปี 2017 ต่อไป แม้จะมีการปรับเปลี่ยนในบางจุด เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% ดังเช่นในปัจจุบันลงมาเป็น 15% และจะยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาของกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมทั้งการยกเลิกนโยบายเรียกเก็บภาษีภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนมาตรการด้านพลังงานในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ให้ความสำคัญมากสำหรับข้อเสนอใหม่ ๆ ของตนที่พุ่งเป้าไปยังชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง ซึ่งได้แก่ การยกเลิกการเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจากเงินสวัสดิการประกันสังคมและรายได้จากการทำงานล่วงเวลา ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนไว้ว่า ยังต้องดูว่า สภาคองเกรสจะตีโจทย์ออกมาเป็นกฎหมายอย่างไร เพราะมีความเป็นไปได้ที่การดำเนินการนี้จะเปิดช่องให้มีผู้สามารถฉวยโอกาสหาประโยชน์จากนโยบายที่ควรเป็นของคนทำงานภาคบริการเช่น ร้านอาหาร บาร์ หรืองานบริการอื่นๆ เท่านั้น

ภาษีนำเข้าและการค้า

ท่าทีของทรัมป์ในประเด็นการค้าระหว่างประเทศคือ การมองว่า ตลาดการค้าโลกนั้นมีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และยังได้เสนอการจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 10%-20% สำหรับสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่ มีการพูดระหว่างขึ้นหาเสียงในบางเวทีว่า จะเสนออัตราภาษีที่สูงกว่าที่ว่าด้วย นอกจากนั้น ยังประกาศว่าจะสั่งให้มีการรื้อฟื้นคำสั่งฝ่ายบริหารเดือนสิงหาคม ปี 2020 ที่บังคับให้สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) สั่งซื้อยาก “ที่มีความจำเป็น” จากบริษัทยาอเมริกันเท่านั้น พร้อมจะสั่งสกัดการจีนไม่ให้เข้าซื้อ “โครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่าง ๆ” ของสหรัฐฯ ด้วย

แนวคิด DEI, LGBTQ และสิทธิพลเมือง

ทรัมป์ได้เรียกร้องให้มีการลด ๆ การให้ความสำคัญต่อประเด็นความหลากหลายทางสังคมและการปกป้องทางกฎหมายสำหรับสมาชิกกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) รวมทั้งให้มีการยุติโครงการ Diversity, Equity and Inclusion (ความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของคนหมู่มาก) ในองค์กรรัฐบาลทั้งหลาย โดยใช้เรื่องงบประมาณรัฐบาลกลางเป็นข้อต่อรอง

ในกรณีของสิทธิของบุคคลข้ามเพศ ทรัมป์ได้ประกาศว่า จะยุติการ “ให้เด็กผู้ชายเล่นกีฬาผู้หญิง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนนี้ย้ำว่าเกิดขึ้นประจำ โดยไม่เสนอหลักฐานใด ๆ

แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะทรัมป์ยังเสนอแนวคิดจะยกเลิกนโยบายของรัฐบาลไบเดนที่ขยายอำนาจกฎหมาย Title IX ในการปกป้องสิทธิพลเมืองสำหรับนักเรียนข้ามเพศ และยังจะขอให้สภาคองเกรสออกกฎหมายที่ให้มีการต้องระบุเพศของเด็กเกิดใหม่ว่าเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชายเท่านั้นด้วย

กฎเกณฑ์ ระบบราชการกลาง และอำนาจของประธานาธิบดี

ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 พยายามลดบทบาทของข้าราชการของรัฐบาลกลางและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อ้างว่า จะเป็นสิ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคเพราะจะมีการยกเลิกเงื่อนไขสกัดกั้นการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลต่าง ๆ รวมทั้งจะมีการยกเลิกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านเพื่อเปิดทางให้มีการก่อสร้างมากขึ้น แม้จริง ๆ แล้วกฎต่าง ๆ ที่ควบคุมธุรกิจก่อสร้างนั้นมักมาจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลของรัฐเป็นหลัก

นอกจากนั้น ทรัมป์ประกาศว่า จะทำให้การไล่ลูกจ้างรัฐบาลออกเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการจัดกลุ่มให้คนกลุ่มนี้ที่มีอยู่นับพันนับหมื่นอยู่นอกเงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองของข้าราชการ ซึ่งหมายความว่า อำนาจของรัฐบาลจะอ่อนแอลงเพราะต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อทำงานส่วนต่าง ๆ ตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์อ้างด้วยว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษที่จะควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางแม้หลังสภาคองเกรสจะจัดสรรงบประมาณเสร็จแล้ว โดยอ้างว่า สมาชิกสภาคองเกรสกำหนดเพียง “เพดาน” การใช้จ่าย แต่ไม่ได้กำหนด “พื้น” ที่หมายความว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะ “ดำเนินการตามกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์” ที่รวมความถึงประเด็นการใช้จ่ายด้วย แต่เรื่องนี้ก็อาจนำมาซึ่งการต่อสู้ระหว่างศาลและคองเกรสก็เป็นได้

ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ยังเสนอให้ระบบธนาคารกลางซึ่งเป็นองค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดีด้วย

ระบบการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการคือเป้าหมายที่รัฐบาลทรัมป์สมัยสองตั้งใจจะกำจัดทิ้งไป แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลใหม่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนเลย เพราะยังมีการเสนอใช้งบประมาณสนับสนุนมาเป็นข้อต่อรองเพื่อบีบให้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานยกเลิกโปรแกรมที่เน้นความหลากหลายต่าง ๆ ไปเสีย รวมทั้งเรียกร้องให้มีการถอนงบประมาณช่วยเหลือ “โรงเรียนหรือโครงการ(ศึกษา)ใด ๆ ก็ตามที่สนับสนุน Critical Race Theory (ทฤษฎีเชื้อชาติเชิงวิพากษ์) แนวคิดด้านเพศ หรือแม้แต่สิ่งที่ระบุว่าเป็น เนื้อหาด้านการเมือง เพศ หรือเชื้อชาติ อันไม่เหมาะสมให้กับเด็ก ๆ

ทรัมป์ยังเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลกระบวนการรับรองวุฒิในระดับอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการสิ่งที่บอกว่าเป็น “อาวุธลับ” ของตนเพื่อใช้สู้กับ “พวกวิกลจริตและพวกบ้าคลั่งลัทธิมากซ์” ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มที่ควบคุมระบบการศึกษาของประเทศอยู่ พร้อมกับขู่ว่า จะดำเนินการ “เก็บภาษี สั่งปรับเงิน และยื่นเรื่องฟ้อง” มหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ทั้งหลายที่ไม่ทำตามคำสั่งของตนด้วย

ระบบประกันสังคม เมดิแคร์สำหรับคนแก่ และเมดิเคดสำหรับคนรายได้น้อย

ทรัมป์ย้ำว่า ตนจะปกป้องระบบประกันสังคม (Social Security) เมดิแคร์สำหรับคนแก่ (Medicare) และเมดิเคดสำหรับคนรายได้น้อย (Medicaid) ซึ่งเป็นนโยบายสำหรับชาวอเมริกันผู้สูงอายุทั้งหลาย และเป็นส่วนที่ใช้งบประมาณรัฐบาลก้อนใหญ่ที่สุดก้อนหนึ่งในแต่ละปี

แต่ก็ยังมีคำถามว่า เมื่อพิจารณาข้อเสนอกฎหมายกเลิกการเก็บภาษีจากทิปและค่าจ้างล่วงเวลาจะไม่กระทบระบบประกันสังคมและเมดิแคร์สำหรับคนแก่ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่ค่อยได้พูดถึงเมดิเคดสำหรับคนรายได้น้อยเท่าไหร่

ก.ม. Affordable Care Act และการดูแลสุขภาพ

ตั้งแต่เมื่อปี 2015 ทรัมป์เรียกร้องให้มีการยกเลิก กฎหมายประกันสุขภาพของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หรือ Affordable Care Act ที่มีเนื้อหาให้รัฐบาลสนับสนุนตลาดประกันสุขภาพ แต่ไม่เคยนำเสนอทางเลือกที่จะมาแทนที่เลย

โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ อดีตแคนดิเดตพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ ขึ้นร่วมเวทีหาเสียงของว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่นครมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน เมื่อ 1 พ.ย. 2567
โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ อดีตแคนดิเดตพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ ขึ้นร่วมเวทีหาเสียงของว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่นครมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน เมื่อ 1 พ.ย. 2567

ในการโต้อภิปรายกับรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เมื่อเดือนกันยายน ทรัมป์ย้ำเพียงว่า ตน “มีแนวคิดเรื่องแผน” ก่อนที่ต่อมา จะประกาศกับกลุ่มผู้สนับสนุนว่า จะแต่งตั้ง โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ อดีตแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่กลายมาเป็นพันธมิตรและเป็นผู้ที่ต่อต้านวัคซีนและการใช้ยาฆ่าแมลงในวงการเกษตรของสหรัฐฯ ให้ขึ้นทำหน้าที่ดูแลให้อเมริกามีสุขภาพดีอีกครั้ง (making America healthy again)

สภาพภูมิอากาศและพลังงาน

หลังออกมาบอกว่า ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นเป็น “เรื่องโกหกหลอกลวง” และโจมตีรัฐบาลไบเดนที่ตั้งงบใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดที่หวังจะช่วยสหรัฐฯ ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทรัมป์เสนอนโยบายด้านพลังงานและงบสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ยึดกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่รถ ไปจนถึงสะพานและพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยสัญญาด้วยว่า จะยุติโครงการสนับสนุนตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและปรับลดมาตรฐานประสิทธิภาพเชื้อเพลิงของรัฐบาลไบเดนด้วย

สิทธิคนงาน

ทั้งทรัมป์และว่าที่รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ต่างเสนอภาพของตนว่าอยู่ข้างคนงานอเมริกัน แต่ทรัมป์น่าจะทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นเกิดขึ้นได้ยากขึ้น โดยทุกครั้งที่มีการต้องพูดถึงประเด็นสหภาพ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักโยนไปว่า “พวกหัวหน้าสหภาพและซีอีโอทั้งหลาย” คือพวกที่สมคบคิดใน “แผนการพัฒนารถพลังงานไฟฟ้าที่นำมาซึ่งหายนะ”

นโยบายกลาโหมและบทบาทสหรัฐฯ บนเวทีโลก

วาทกรรมและนโยบายของทรัมป์เกี่ยวกับกิจการโลกนั้นโน้มเอียงไปทางการทูตแบบโดดเดี่ยวตนเอง ไม่มีการแทรกแซงทางการทหาร และการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าประธานาธิบดีทั้งหลายนับตั้งแต่หลังสงครามโลกที่ 2 เป็นต้นมา แต่เมื่อลงดูในรายละเอียดแล้ว ทุกอย่างดูซับซ้อนกว่านั้น

ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะขยายกองทัพ ปกป้องงบประมาณเพนตากอนจากความเข้มงวดในการดูแลควบคุมการใช้จ่ายและเสนอโครงการขีปนาวุธป้องกันตนเองใหม่ที่เป็นการปัดฝุ่นแนวคิดตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในยุคสงครามเย็น

ทรัมป์ยืนยันว่า จะสามารถยุติสงครามในยูเครนและสงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่ไม่ได้อธิบายว่าจะทำอย่างไร

นอกจากนั้น ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ยังวิพากษ์วิจารณ์องค์การนาโต้และบรรดานายพลระดับสูงของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ออกปากสรรเสริญเผด็จการต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ของฮังการีและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย อย่างต่อเนื่อง

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG