เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะมีต่อคิวบา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ ใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการประกาศนโยบายต่างประเทศของตน
เรื่องนี้ได้สร้างความแปลกใจอย่างยิ่งให้กับผู้ติดตามการเมืองสหรัฐฯ ที่ทรัมป์สามารถใช้ตัวอักษรเพียง 138 ตัว ในการระบุถึงนโยบายสำคัญด้านการต่างประเทศ จนทำให้เกิดคำว่า “การทูตผ่านทวิตเตอร์” ขึ้นมา
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ คือผู้สมัครที่ใช้การสื่อสารกับผู้สนับสนุนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ “ทวิตเตอร์” มากที่สุด โดยเขาสามารถทวีตข้อความได้ทุกวันและทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นทวีตโจมตีคู่แข่ง หรือแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ด้วยประโยคสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ยิ่งสร้างความแปลกใจมากขึ้น เมื่อเขาทวีตข้อความเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่จะมีต่อคิวบา เป็นครั้งแรก
ดูเหมือนข้อความที่ทรัมป์ส่งผ่านทวิตเตอร์สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างมากในกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์
แต่บรรดานักการทูตต่างเตือนว่า หากทรัมป์ยังคงใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารหลักในช่วงที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านนโยบายต่างประเทศ อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น การตีความผิดโดยผู้นำประเทศอื่น
คุณ Kathleen Hall Jamieson ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและนโยบายสาธารณะที่ University of Pennsylvania ระบุว่า เหตุผลสำคัญในเรื่องนี้เป็นเพราะธรรมชาติของทวิตเตอร์ ที่กำหนดข้อความไว้เพียง 140 ตัวอักษรในการโพสต์แต่ละครั้ง จึงอาจไม่สามารถปะติดปะต่อสิ่งที่ต้องการสื่อได้อย่างละเอียดสมบูรณ์ และอาจนำไปสู่การตีความผิดพลาด
คุณ Jamieson ชี้ว่าที่ผ่านมา การสื่อสารต่างๆ ของบุคคลระดับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำอย่างระมัดระวัง และมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายโดยเฉพาะ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการตีความผิด หรือกำกวมไม่ชัดเจน ก่อนที่จะประกาศไปอย่างเป็นทางการ เพราะหมายถึงผลกระทบใหญ่หลวงระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องแปลเป็นภาษาอื่น
ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า คือประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่มีบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง ปธน.โอบาม่า และว่าที่ ปธน.ทรัมป์ คือบัญชีทวิตเตอร์ของโอบาม่ามีเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลและโพสต์ข้อความต่างๆ ให้ ซึ่งมุ่งเน้นที่กิจการในประเทศเท่านั้น ส่วนกิจการต่างประเทศให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
คุณ Ron Christie ที่ปรึกษาของอดีต ปธน.จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ให้ความเห็นว่า ยังไม่แน่ชัดว่าเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ จะยังคงใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการประกาศนโยบายต่างประเทศหรือไม่ หรือจะมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ แต่ตนคิดว่าทรัมป์ควรทำตามระบบที่ ปธน.โอบาม่าและ ปธน.คนก่อนๆ วางไว้ และใช้สื่อสังคมออนไลน์สำหรับเรื่องที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น
อดีตที่ปรึกษาผู้นี้ชี้ว่า ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้คนทั่วโลกต่างติดตามและพยายามแปลความหมายของทุกคำพูดและทุกคำแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตนหวังว่าในที่สุดแล้ว คณะทำงานของทรัมป์จะช่วยเน้นย้ำให้ทรัมป์ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง จากคำพูดหรือการโพสต์ข้อความเพียงไม่กี่คำของเขา
อย่างไรก็ตาม คุณ Jason Miller ผอ.ฝ่ายการสื่อสารของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเชื่อว่าการสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ ให้ผลดีมากกว่าผลเสีย โดยบอกว่าจุดเด่นของทรัมป์คือกล้าแสดงความเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และทวิตเตอร์คือช่องทางที่เหมาะกับบุคลิกดังกล่าวของทรัมป์
ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ เคยพูดอยู่เสมอว่าในการทำธุรกิจ ตนชอบใช้คำพูดที่เกินจริง ทั้งเพื่อใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชน และทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสน ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Art of the Deal ที่ทรัมป์เขียนขึ้นเองเมื่อหลายปีก่อน
แต่เทคนิคดังกล่าวจะนำมาใช้ในทางการทูตและการต่างประเทศ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตา
(ผู้สื่อข่าว William Gallo รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)