ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: เเคนดิเดตรองปธน.มีผลต่อการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ แค่ไหน?


จากซ้ายไปขวา สว.รัฐโอไฮโอ เจ ดี เเวนซ์ แคนดิเดตรองปธน.ของพรรครีพับลิกัน และอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทั้งสองจะเเข่งขันในการเลือกตั้งปลายปีนี้กับ รองปธน.คามาลา แฮร์ริส และผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตรองปธน.ของพรรคเดโมเเครต
จากซ้ายไปขวา สว.รัฐโอไฮโอ เจ ดี เเวนซ์ แคนดิเดตรองปธน.ของพรรครีพับลิกัน และอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทั้งสองจะเเข่งขันในการเลือกตั้งปลายปีนี้กับ รองปธน.คามาลา แฮร์ริส และผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตรองปธน.ของพรรคเดโมเเครต

คอการเมืองอเมริกันต่างทราบกันเเล้วว่าทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมเเครตจะส่งใครเป็นตัวเเทนลงเเข่งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี การประกาศชื่อ สว.รัฐโอไฮโอ เจ ดี เเวนซ์ เป็นเเคนดิเดตในตำแหน่งนี้เมื่อเดือนที่เเล้ว และการเปิดตัวผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ โดยพรรคเดโมเเครตในสัปดาห์นี้ ต่างสร้างความคึกคักให้กับการหาเสียงของทั้งสองพรรค

อย่างไรก็ตาม มักเกิดคำถามว่าตัวเลือกสำหรับประชาชนในตำแหน่งรองปธน. มีผลมากน้อยเพียงใดต่อผลการเลือกตั้งผู้นำอเมริกัน

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ กล่าวว่าความเป็นตำแหน่ง 'เบอร์สอง' ในทำเนียบขาวมักทำให้รองปธน. ถูกมองด้วยความเข้าใจผิด ๆ ทั้งที่จริงแล้วมีความสำคัญไม่น้อย

โจล โกลด์สไตน์ ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งรองประธานาธิบดี กล่าวว่า "ตำแหน่งนี้คือการทำหน้าที่ผู้ช่วย ในการสนับสนุนและสานต่องานด้านนโยบาย และต่อเติมบทบาทของประธานาธิบดีในการทำหน้าที่ผู้นำของชาติและของโลก"

นอกจากนั้นตำแหน่งรองปธน.ยังช่วยเพิ่มความน่าตื่นเต้นให้กับการหาเสียงของเเคนดิเดตปธน.ด้วย

"ที่บิล คลินตันเลือกอัล กอร์ในปี 1992 เป็นการเลือกที่ดีมาก เป็นการผสมผสานระหว่างคนหนุ่มแนวคิดสายกลางจากรัฐทางใต้ ที่เป็นคนรุ่นเบบีบูมเมอร์ ซึ่งส่งสัญญาณไปสู่ประชาชนถึงการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น" โกลด์สไตน์กล่าว

สำหรับตัวอย่างการเลือกเเคนดิเดตรองปธน.ที่ไม่ค่อยส่งเสริมการหาเสียง ในสายตาอาจารย์โกลด์สไตน์ คือเมื่อปี 2008 ปีพรรครีพับลิกันได้ ซาราห์ เพลิน ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา มาลงคู่กับสว. จอห์น เเมคเคน จากรัฐแอริโซนา

โกลด์สไตน์บอกว่า เพลินถูกล้อเลียนเป็นตัวตลก และไม่ส่งผลดีต่อการหาเสียงของเเมคเคน เเม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุที่สว.ผู้นี้แพ้เลือกตั้งคราวนั้น

สำหรับการเลือกตั้งปธน.ปีนี้ พรรครีพับลิกันอาจจะสร้างผลดีจากการได้ สว. เเวนซ์ มาลงคู่กับอดีตปธน. ทรัมป์ ตามความเห็นของปีเตอร์ ลอจ ผู้อำนวยการ คณะการสื่อสารและกิจการสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน

เขากล่าวว่า "เรื่องราวที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาคือ มันเคยมีความเป็นอเมริกันที่ ถ้าคุณทำงานหนักและทำตามกฎ ครอบครัวชนชั้นกลางอย่างคุณจะประสบความสำเร็จได้ ตอนนี้ความเป็อเมริกาในแบบนั้นมันไม่มีอีกแล้ว แต่ถ้าเลือกพวกเขา มันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"

สำหรับฝั่งเดโมเเครตที่ได้ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ มาลงคู่กับรองปธน.แฮร์ริส อาจารย์เอลิซาเบธ เคลเมนส์ นักสังคมวิทยาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า วอลซ์มาพร้อมกับเรื่องราวของการเน้นยำ้เรื่องปากท้องของครอบครัว ที่ถูกสะท้อนออกมาจากคำว่า pro-family economics

เธอกล่าวว่า pro-family economics ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องการสนับสนุนให้ควบคุมสิทธิ์การเจริญพันธุ์ของสตรี แต่เป็นเรื่อง "การสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อครอบครัว ทั้งเรื่องการศึกษา การดูเเลสุขภาพ การมีที่อยู่อาศัย และความก้าวหน้าด้านการงาน"

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG