นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Minnesota วิเคราะห์ข้อมูลจาก 100 ประเทศ และประมวลข้อมูลออกมาเป็นแผนภูมิว่าคนในประเทศต่างๆ บริโภคอะไรกันบ้าง และอาหารที่พวกเขารับประทานส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพ
อาจารย์ David Tilman ผู้ทำการศึกษาระบุว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้น เมื่อราว 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่กระแสการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในหลายประเทศ ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้น และรายได้ของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน
ปรากฏว่าเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่คนจำนวนมากในส่วนต่างๆ ของโลกหันมารับประทานอาหารแบบตะวันตก ที่มีน้ำตาลมาก ไขมันสูง และ เนื้อสัตว์กับน้ำมันก็เป็นส่วนประกอบหลักๆ อีกด้วย
อาจารย์ Tilman บอกว่า ท่ามกลางปัจจัยเหล่านี้ คนอ้วนขึ้นและป่วยง่ายขึ้น คนในประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 15 ประเทศของโลก รับประทานอาหารที่มี แคลอรี่สูงเกินไปถึง 400 ถึง 500 แคลอรี่ ต่อวัน และนั่นเป็นเหตุให้รอบเอวใหญ่ขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังเสี่ยงต่อโรค เบาหวานหัวใจ และมะเร็งบางชนิดด้วย ทั้งนี้ อาจารย์ Tilman เขียนผลงานวิจัยนี้ลงในนิตยสารวิชาการ Nature
เขาเสริมว่า เดิมที่ประชากรจีนเป็นเบาหวานเพียง หนึ่งในร้อย แต่ในรอบ 20 ปีที่จีนเปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้นตัวเลขดังกล่าวกระโดดขึ้นมาเป็นร้อยละ 10
นอกจากนั้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่อาจมองข้ามได้ ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่าที่ สภาพแวดล้อมของเราได้รับผลกระทบเพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ได้เปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติ มาเป็นแหล่งเกษตรกรรม ป่าไม้เดิมกลายมาเป็น สวนกสิกรรม และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านอาหารทำร้ายสภาพอากาศโลกมากกว่ามลพิษจากการขนส่งในโลกทั้งหมดรวมกัน เขาเรียกความสัมพันธ์ของสามปัจจัย ด้านอาหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสามประสาน ที่หาทางออกยากยิ่ง (Trilemma) และเป็นสิ่งที่ท้าทายมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในปัจจุบัน
โปรดติดตามรายละเอียดจากคลิปเรื่องนี้ในรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ
รายงานโดย Rosanne Skirble/เรียบเรียงโดย Rattaphol Onsanit