Dr. Amina Aitsi-Selmi ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัย University College กรุงลอนดอนเป็นหัวหน้าการวิจัยชิ้นนี้ซึ่งศึกษาว่าคนในประเทศรายได้น้อยและปานกลางมีลักษณะการบริโภคเกี่ยวพันกับระดับการศึกษาและระดับรายได้ คล้ายคลึงกับคนในประเทศร่ำรวยหรือไม่
Dr. Amina Aitsi-Selmi กล่าวว่าเป็นที่รู้กันดีว่าในประเทศรายได้สูง ระดับการศึกษากับระดับรายได้จะสอดคล้องกัน คนที่มีการศึกษาสูงจะมีรายได้สูงและมักจะเป็นคนที่รูปร่างผอมบางที่สุด ส่วนคนมีระดับการศึกษาน้อยกว่าและรายได้น้อยกว่ามักจะมีปัญหาน้ำหนักเกิน
ทีมวิจัยทำการศึกษาประเด็นนี้ในประเทศรายได้ปานกลาง อาทิ อียิปต์ จอร์แดน และโคลัมเบีย และประเทศที่มีรายได้น้อย อาทิ ไนจีเรีย อินเดียและสาธารณรัฐเบนิน ในประเทศทั้งหมดนี้ ระดับรายได้ประชากรกำลังเพิ่มขึ้นทำให้ผู้หญิงซื้ออาหารที่ระดับพลังงานสูงมารับประทานกันมากขึ้นมีผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูงมักมีปริมาณน้ำตาล ไขมันและเกลือสูง ซึ่งยังรวมทั้งอาหารสำเร็จรูปที่เรียกว่าอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด
Dr. Amina Aitsi-Selmi หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าผลการศึกษาชี้ว่าเเม้ว่าระดับรายได้มีผลต่อลักษณะการบริโภคของคนในประเทศแต่ในประเทศรายได้ปานกลาง ปรากฏว่าผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาดีกลับไม่เสี่ยงต่อปัญหาโรคอ้วน ทำให้ทีมนักวิจัยเชื่อว่าการศึกษาที่สูงขึ้นช่วยให้ผู้หญิงมีความรู้เท่าทันและเลือกบริโภคอย่างชาญฉลาดทำให้ไม่เป็นโรคอ้วนเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่า
นอกจากนี้ Dr. Amina Aitsi-Selmi ยังอธิบายด้วยว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาในประเทศรายได้ปานกลางอาจจะนิยมรูปร่างผอมบางหรืออาจได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกในเเง่ของความสวยงามที่นิยมความผอมหรืออาจมีความรู้และความเข้าใจทางด้านการรักษาสุขภาพให้เเข็งเเรงมากกว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่า นอกจากนี้ผู้บริโภคในประเทศรายได้ปานกลางอาจมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้นเพราะมีประเภทของอาหารให้เลือกหลากหลายมากกว่าเดิมทำให้ผู้บริโภคต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของอาหารประเภทต่างๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพ
ส่วนในประเทศที่มีรายได้น้อย ความเกี่ยวโยงระหว่างระดับรายได้กับลักษณะการบริโภคกลับแตกต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศรายได้ปานกลาง ผู้หญิงในประเทศรายได้กลับนิยมรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง นักวิจัยคาดเดาว่าอาจจะเกี่ยวพันกับความขาดเเคลนอาหารที่ให้พลังงานสูงในอดีต
Dr. Amina Aitsi-Selmi กล่าวว่าเป็นไปได้ว่าการขาดแคลนอาหารที่ให้พลังงานสูงในอดีตเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนต้องการบริโภคอาหารประเภทนี้มากขึ้นเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ในกรณีนี้ความอยากมาก่อนความเข้าใจถึงผลเสียต่อสุขภาพ
Dr. Amina Aitsi-Selmi กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างระดับการศึกษากับปัญหาโรคอ้วนเพื่อดูว่าการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้นหรือมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้นจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนได้อย่างไร