ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แสดงความยินดีต่อคำประกาศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยอมรับสถานภาพผู้มีสิทธิ์เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เรียกมาตรการลงโทษต่าง ๆ ที่ชาติตะวันตกดำเนินการต่อรัสเซียว่าเป็น “เรื่องโง่เง่า”
ผู้นำรัสเซียแสดงอาการไม่สบอารมรณ์ต่อมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหลายที่นานาชาติดำเนินการต่อกรุงมอสโก ในระหว่างการเข้าร่วมงานประชุม St. Petersburg International Economic Forum ในวันศุกร์ พร้อมกล่าวหาชาติตะวันตกว่า “แสดงอาการเย่อหยิ่งจองหองเยี่ยงยุคล่าอาณานิคม” และพยายามที่จะบดขยี้รัสเซียด้วยมาตรการต่าง ๆ
ปธน.ปูติน กล่าวว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครนจะเดินหน้าต่อไป และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะแสดงอธิปไตยและความแข็งแกร่งของรัสเซียเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลมอสโกเรียกว่าเป็น “ความเป็นปรปักษ์จากตะวันตก”
นอกจากนั้น ปธน.ปูติน ยังระบุว่า “ชาติตะวันตกเฝ้าปฏิเสธที่จะทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ จนทำให้เป็นไม่แทบไม่ได้ที่ (รัสเซีย) จะบรรลุข้อตกลงใด ๆ กับ (ชาติตะวันตก)” และว่า “ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ท่ามกลางความเสี่ยงและภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ รัสเซียถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจทำปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ซึ่งเป็นเรื่องยากแน่นอน แต่(เรา)ถูกบังคับและเป็นเรื่องจำเป็น”
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำรัสเซียยังกล่าวว่า สหรัฐฯ พยายามเปลี่ยน “หน้าประวัติศาสตร์” และกล่าวหารัฐบาลชาติตะวันตกว่า ทำการก่อกระแสความรู้สึกต่อต้านรัสเซีย และ “จัดสรรงบประมาณทางทหารอย่างแข็งขันในดินแดนยูเครน” ด้วย
ขณะเดียวกัน การต่อสู้ระหว่างกองกำลังรัสเซียและนักรบยูเครนยังเดินหน้าต่อไปในพื้นที่แคว้นดอนบาสของยูเครน โดยกองทัพกรุงเคียฟเปิดเผยในวันศุกร์ว่า มีการยิงโจมตีเมืองสโลเวียนสก์และเมืองเซเวโรดอแนตสก์อย่างต่อเนื่อง โดย รัสเซียและกองทัพพันธมิตรประกาศว่า ตนสามารถยึดครองพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของเขตปกครองดอแนตสก์และเกือบทั้งหมดของเขตปกครองลูฮันสก์ได้แล้ว
ยูเครนกับการเข้าเป็นสมาชิกอียู
ในส่วนของความคืบหน้าการเข้าเป็นสมาชิกอียูของยูเครนนั้น ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวในวันศุกร์ว่า ควรมีการพิจารณาสถานภาพผู้มีสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเป็นทางการของยูเครนได้แล้ว และระบุว่า “เราต่างทราบดีว่า ชาวยูเครนพร้อมที่จะสละชีพเพื่อทัศนคติในแบบของยุโรป ... เราต้องการให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับเรา ในเส้นทางฝันแบบยุโรป”
ในช่วงเช้าวันศุกร์ ปธน.เซเลนสกี ทวีตข้อความแสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจของผู้บริหารอียู และกล่าวเสริมว่า “นี่เป็นก้าว ๆ แรก ของเส้นทางการเข้าเป็นสมาชิกอียู ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใกล้ชัยชนะขึ้นเรื่อย ๆ”
คำแนะนำดังกล่าวของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปถือเป็นก้าวแรกของกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ 27 ประเทศนี้ โดยผู้นำอียูมีกำหนดจะเข้าร่วมประชุมในปลายเดือนนี้เพื่อพิจารณาคำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปนี้ ซึ่งเปิดทางการสมัครให้ประเทศมอลโดวา ด้วย
การระงับการส่งก๊าซธรรมชาติ
ฝรั่งเศสกลายมาเป็นประเทศล่าสุดที่ทำการยุติการรับก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยสมบูรณ์ ขณะที่ รัฐบาลกรุงมอสโกสั่งลดปริมาณก๊าซที่ส่งให้อิตาลีและสโลวะเกียลงครึ่งหนึ่งด้วย โดยการดำเนินการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อเยอรมนีและออสเตรียไปด้วย
ทั้งนี้ 40% ของก๊าซธรรมชาติที่ยุโรปใช้นั้นมาจากรัสเซีย
ในเวลานี้ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มทำการสะสมปริมาณก๊าซสำรองเพื่อใช้ในฤดูหนาวแล้ว โดยอียูแนะให้ประเทศสมาชิกทั้งหลายกักเก็บก๊าซให้ได้ถึงระดับ 80% ของความจุรวมของแต่ละประเทศภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ก่อนหน้านี้ รัสเซียดำเนินการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติให้โปแลนด์ บัลแกเรีย ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก ไปแล้ว
ไบเดน ยอมรับ “การเจ็บตัวทางการเมือง”
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนยินดีที่จะต้องเจ็บตัวทางการเมือง เพื่อแลกกับการสนับสนุนยูเครน โดยสหรัฐฯ เป็นผู้นำการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดต่อรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงทำสถิติใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
และในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับเอพีเมื่อวันพฤหัสบดี ปธน.ไบเดน กล่าวว่า ตนทำการตัดสินใจต่าง ๆ ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด และไม่ใช่ในฐานะนักการเมือง พร้อมระบุว่า “ข้าพเจ้าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ... (และ)นี่ไม่ใช่เรื่องของการเอาตัวรอดทางการเมือง เป็นเรื่องที่ว่า การทำการใดจะส่งผลดีที่สุดให้กับประเทศ”
ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า อาจเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในยุโรป หากรัสเซียยังคงรุกคืบหนักเข้าไปในพื้นที่ทวีปยุโรปโดยไม่มีใครกล้าออกมาท้าทาย
รัสเซียไม่สนกรณีผู้นำยุโรปเยือนกรุงเคียฟ
ภายหลังการเยือนกรุงเคียฟของ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี นายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี ของอิตาลี และนายกรัฐมนตรีเคลาส์ โยฮันนิส ของโรมาเนีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนในการรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียและรองประธานสภาความมั่นคงเครมลินในปัจจุบัน กล่าวว่า ผู้นำชาติยุโรปทั้ง 4 นั้นเป็นเพียง “ผู้เชี่ยวชาญด้าน กบ ตับ และพาสตา” เท่านั้น และการเยือนครั้งนี้ไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์อันใด
เมดเวเดฟ ระบุวา “เป็นอีกครั้งที่ พวกเขาสัญญาการจะเปิดทางเข้าเป็นสมาชิกอียู และจะนำส่งปืนใหญ่ฮาววิตเซอร์เก่า ๆ ให้ ก่อนจะนั่งดื่มวอดกากัน เหมือนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ก่อนจะนั่งรถไฟกลับบ้านกัน .... และนั่นก็เป็นเรื่องดี เพียงแค่ว่า นั่นไม่ได้จะช่วยให้ยูเครนเข้าใกล้สันติสุขเท่าใดเลย ขณะที่ เวลาก็ใกล้จะหมดลงแล้ว”
อย่างไรก็ดี ในการแถลงประจำวันในช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปธน.เซเลนสกี กล่าวว่า การที่ได้ยินจากปากผู้นำยุโรปที่เห็นด้วยว่า “การสิ้นสุดของสงครามและสันติภาพสำหรับยูเครน ควรเป็นไปในทิศทางที่ชาวยูเครนเห็นควร” นั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับตนมาก พร้อมกล่าวว่า ชาวยูเครนจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อดินแดนของตนต่อไป หลังสามารถยึดคืนพื้นที่บางส่วนในภาคใต้กลับมาได้บ้างแล้ว โดยผู้นำยูเครนยืนยันว่า ชัยชนะในสงครามครั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเดินหน้าสนับสนุนทางการทหารจากชาติตะวันตก
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี รอยเตอร์ และเอเอฟพี