นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ กับความเสื่อมถอยของสมองในกลุ่มคนวัยชรา ได้พบว่า กิจกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งแบบเบา ๆ เช่น การเดิน การทำสวน การเต้นรำ และกิจกรรมระดับปานกลาง เช่น การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ ไปจนถึงกิจกรรมอย่างแข็งขัน อาทิเช่น การเล่นกีฬา การวิ่งจ๊อกกิ้ง และการเต้นแอโรบิคนั้น ล้วนแต่มีส่วนช่วยป้องกันการหดตัวของเนื้อสมอง โดยเฉพาะเมื่อเราแก่ตัวลง
นักวิจัยใช้วิธี MRI สแกนเนื้อสมองเพื่อวิเคราะห์ขนาด การทำงาน และความเสื่อมถอยของสมอง และพบว่ายิ่งเรามีกิจกรรมที่กระฉับกระเฉงและเคลื่อนไหวไปมามากเท่าใดเนื้อสมองของเราก็จะไม่หดตัวหรือหดลงตามวัยน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีกิจกรรมลักษณะดังกล่าว
โดยปกติแล้ว เนื้อสมองของเราจะเริ่มหดตัวในช่วงอายุ 60 ถึง 70 ปี แต่กิจกรรมหรือไลฟสไตล์ที่กระฉับกระเฉงดังกล่าว จะช่วยรักษาหรือชะลอการหดตัวของเนื้อสมองได้มากกว่าผู้ที่เฉื่อยชาราว 1.4% หรือเท่ากับประมาณ 4 ปี
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อสมองที่หดตัวช้าลงตามวัยนี้น่าจะเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และคำอธิบายหนึ่งก็คือการเติบโตของเซลล์ประสาทจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่าง ๆ และการออกกำลังกาย รวมทั้งการสร้างภูมิต่อต้านภาวะอักเสบในร่างกายหรือ inflammation และการลดฮอร์โมนความเครียด cortisol ด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหนึ่งของการศึกษาครั้งนี้ มาจากการรายงานโดยอาศัยความจำของกลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ยราว 74 ปี จำนวนราว 1,500 คน และแสดงเพียงความเกี่ยวพันระหว่างระดับของการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันกับปริมาณเนื้อสมอง
นักวิจัยแนะว่า ผู้ใหญ่หรือคนวัยกลางคนไม่ควรละเลยการผสมผสานกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน และผลการศึกษาก่อนหน้านี้ก็แสดงว่า กิจกรรมการใช้ร่างกายแบบไปอยู่นิ่ง ๆ นั้น มีส่วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย