นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียชี้ว่า ความสามารถในการอ่านออกหรือเขียนได้นั้น อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมของคนเราในเวลาที่แก่ตัวลง
นักวิจัยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี จำนวน 983 คนที่อาศัยอยู่ในแถบวอชิงตัน ไฮทส์ ของนครนิวยอร์ก คนเหล่านี้ได้เรียนหนังสือเพียงแค่สี่ปี หรือน้อยกว่า โดยนักวิจัยใช้วิธีทำการทดสอบความจำ ภาษา การมองเห็น หรือความสามารถในการแยกแยะ จากนั้นก็ทำการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตามเกณฑ์มาตรฐาน
ผลการทดสอบพบว่าผู้ที่ไม่เคยเรียนอ่านหรือเขียนเลย มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่สามารถอ่านหนังสือได้ประมาณ 2-3 เท่า
นักวิจัยบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่สมองของคนเราเสื่อมลงนั้น เป็นเพราะคนที่ไม่เคยเรียนอ่านหนังสือเลยจะมีการทำงานของสมองต่ำกว่ากว่าผู้รู้หนังสือ
Jennifer Manly ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นผู้เขียนรายงาน บอกกับ CNN ว่านักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป หลายคนที่มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือหลาย ๆ คนในเขตวอชิงตัน ไฮทส์ ล้วนเดินทางมาจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ริพับลิค ซึ่งอาจทำให้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อไปทำงาน
และแม้จะเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าความสำเร็จด้านการศึกษาสามารถเชื่อมโยงไปถึงการมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่เป้าหมายสำคัญของการศึกษานี้คือการพิจารณาว่า การรู้หนังสือจะช่วยให้คนเราสามารถดูแลสุขภาพสมองในเวลาที่แก่ตัวลงได้หรือไม่
Jennifer กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อยืนยันผลการวิจัยของทีมงานของเธอ แต่อาจนำเรื่องนี้ไปเป็นกรณีศึกษาด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาไปลงทะเบียนในหลักสูตรการเรียนหนังสือของผู้ใหญ่เพื่อช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม
เธอกล่าวอีกว่า บรรดาผู้ร่างนโยบายของสหรัฐฯ ควรพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าคุณภาพการศึกษาสามารถช่วยรักษาสุขภาพสมองในยามแก่ตัว ดังนั้นการให้เด็ก ๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้หนังสือให้มากขึ้น อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้
ผลการศึกษานี้เผยแพร่อยู่ในในวารสาร Neurology