ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักอนุรักษ์เตือนขยะโควิดอาจส่งผลให้มี 'หน้ากากในทะเล' มากกว่าแมงกะพรุน


PPE New Type of Ocean Pollution
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:22 0:00


เมือง Cannes หรือ St. Tropez ซึ่งอยู่ริมชายฝั่ง Côte d'Azur ของประเทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในสถานที่พักร้อนที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก แต่ตอนนี้การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสก่อให้เกิดมลพิษมากมายจากหน้ากากและถุงมือที่ถูกทิ้งลงไปในมหาสมุทร

Laurent Lombard นักดำน้ำและผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ใช้ชื่อว่า Opération Mer Propre (Operation Clean Sea) ได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการพบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย หรือ PPE และขวดเจลล้างมือในขณะที่ทำความสะอาดมหาสมุทร และได้ส่งภาพที่พวกเขาบันทึกไว้ไปยังสำนักข่าว CNN

Lombard ได้โพสต์เตือนไว้บน Facebook ว่า "อีกไม่นานในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาจจะมีหน้ากากอนามัยมากกว่าแมงกะพรุน" ก็เป็นได้

Julie Hellec โฆษกขององค์กร Opération Mer Propre บอกกับ CNN ว่านับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของการดำน้ำที่ Lombard ได้เห็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ใช้แล้วทิ้งนี้ลอยอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และว่าเราจะต้องหาทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

Hellec ประเมินว่าบรรดาของใช้แล้วที่โยนทิ้งอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ถูกเก็บขึ้นมาในระหว่างการทำความสะอาดทะเลนั้นมีน้อยกว่า 5% ของขยะในทะเลทั้งหมดที่องค์กร Opération Mer Propre เก็บอยู่ตามปกติ แต่ทางองค์กรกังวลว่าขยะเหล่านั้นอาจเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น
ทั้งนี้ องค์กร Opération Mer Propre ต้องการที่จะเรียกร้องความตระหนักให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสะอาดของมหาสมุทร

Hellec กล่าวเสริมว่าการใช้ถุงมือและหน้ากากอนามัยที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และห้ามใช้อุปกรณ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้

อย่างไรก็ดี ชายหาดในประเทศฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเพียงที่เดียวที่มีการพบสิ่งปฏิกูลจากการป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ OceansAsia ซึ่งเป็นองค์กรในฮ่องกง รายงานว่าพบหน้ากากอนามัยจำนวนมากถูกพัดเข้าชายฝั่งในหมู่เกาะโซโก

การใช้หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคนั้นเป็นวัฒนธรรมในเอเชียมาช้านานก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่องค์กร OceansAsia ก็สังเกตเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน กล่าวคือเมื่อมีประชากร 7 ล้านคนที่ใช้หน้ากากอนามัยวันละ 1-2 ชิ้น ปริมาณขยะก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน

การผลิต PPE หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดใหญ่ การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเมื่อเร็วๆ นี้ ประมาณว่ามีการใช้หน้ากากอนามัยเดือนละ 129,000 ล้านชิ้น และถุงมือเดือนละ 65,000 ล้านชิ้น

Nick Mallos ผู้บริหารอาวุโสขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Ocean Conservancy บอกกับ CNN ว่า ในหลายๆ ที่ทั่วโลกยังไม่มีการจัดการการเก็บขยะขั้นพื้นฐานเพื่อรับมือกับปริมาณขยะ ดังนั้นขยะเหล่านั้นจึงไปจบอยู่ที่ตามชายหาดและในมหาสมุทร และว่าแม้แต่ในสหรัฐ สหภาพยุโรป และที่อื่นๆ ทั่วโลกที่มีระบบกำจัดขยะที่ดีมากๆ เราก็ยังคงเห็นอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามถนนหนทางและไหลลงสู่ทางน้ำ

Mallos กล่าวอีกว่า หากหน้ากากอนามัยและถุงมือไปสิ้นสุดลงในมหาสมุทร สัตว์ต่างๆ เช่น นกทะเล และเต่าทะเล อาจถูกพันติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น หรือไม่ก็กลืนกินเข้าไป

Mallos กล่าวเน้นว่า การปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุขในเรื่องการใช้วัสดุ PPE เป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะเดียวกันควรลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไปใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปลอดภัยและเหมาะสม และว่าเราควรจะต้องจริงจังกับการลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และควรจะมีระบบที่เหมาะสมในการจัดการของเสียที่เกิดจากวัสดุช่วยชีวิตเช่นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอีกด้วย

รายงานการศึกษาของ World Economic Forum ให้ตัวเลขว่า มนุษย์เราสร้างขยะพลาสติกราวปีละ 8 ล้านตัน ซึ่งในที่สุดแล้วจะลงสู่ทะเล และตัวเลขที่ว่านี้คือในช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาดด้วยซ้ำไป

XS
SM
MD
LG