ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ซอฟต์แวร์ ‘แอบส่องคนอู้งาน’ หัวหน้ายิ้ม ลูกน้องยี้


กระแสความนิยมการทำงานทางไกล โดยไม่ต้องมาประจำอยู่ที่ทำงาน ซึ่งชัดเจนขึ้นหลังการระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19 ผ่านพ้นไป กลายมาเป็นที่มาของคำถามในใจของนายจ้าง โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ ซึ่งไม่แน่ใจว่า พนักงานของตนทำงานโดยมีประสิทธิผลเต็มที่หรือไม่อย่างไร และทำให้บางรายตัดสินใจใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว

แม้การศึกษาจะแสดงให้เห็นว่า การทำงานจากระยะไกลสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานได้ แต่บริษัทและองค์กรบางแห่ง ต้องการสร้างความแน่ใจว่าพนักงานที่ทำงานจากระยะไกล มีความตั้งใจและทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์ติดตามการทำงานของพนักงานเหล่านี้

หน้าเว็บของซอฟต์แวร์ "Bossware"
หน้าเว็บของซอฟต์แวร์ "Bossware"

ซอฟต์แวร์ดังกล่าวชื่อว่า “บอสแวร์” (Bossware) และผสมผสานการตรวจสอบที่หลากลาย ทั้งการใช้งานแป้นพิมพ์ การเคลื่อนไหวของดวงตา จับภาพหน้าจอ รวมถึงติดตามเว็บไซต์ที่พนักงานเข้าชม

แจเร็ด บราวน์ ซีอีโอ บริษัท ฮับสตาฟ (Hubstaff) ผู้ผลิต Bossware เผยว่า พนักงานที่ทำงานจากระยะไกล ราว 4 ถึง 8% ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อหลอกให้ดูเหมือนว่ากำลังทำงานอยู่

แจเร็ด บราวน์ ซีอีโอ บริษัท ฮับสตาฟ (Hubstaff)
แจเร็ด บราวน์ ซีอีโอ บริษัท ฮับสตาฟ (Hubstaff)

เขาอธิบายว่า การพิจารณาจะประเมินจากหลายปัจจัย เช่น การเคลื่อนไหวของเมาส์ การใช้งานแป้นพิมพ์ และไม่ได้ดูสิ่งที่พนักงานพิมพ์ แต่จะดูว่ามีการเคาะคีย์บอร์ดหรือไม่ โดยไม่ได้บันทึกว่า มีการกดแป้นพิมพ์ใด แต่จะตรวจดูการใช้งานคอมพิวเตอร์ว่ามีการเปิดเว็บเบราว์เซอร์ของผู้ใช้งาน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การเฝ้าติดตามลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลลบได้ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์กลาสดอร์ (Glassdoor) ที่สำรวจพนักงานจำนวน 2,000 คน พบว่า มีประมาณ 40 % ที่รู้สึกว่า ประสิทธิภาพการทำงานของตนเองลดลง เมื่อถูกนายจ้างจับตามองผ่านเครื่องมือต่าง ๆ

สเตฟานี อัลสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรและการสรรหาบุคลากร กล่าวว่า ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ส่วนซอฟต์แวร์เฝ้าติดตามจะไปลดทอนความพึงพอใจของลูกจ้าง

การสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน ต่อการถูกติดตามตรวจสอบการทำงาน
การสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน ต่อการถูกติดตามตรวจสอบการทำงาน

เธอบอกว่า “ถ้าบริษัทต่าง ๆ เริ่มนำซอฟแวร์เฝ้าติดตามการทำงานมาใช้ ฉันรับรองได้ว่าเราจะเห็นพนักงานลาออกเป็นจำนวนมาก” โดยอัลสตันเสริมว่า มีข้อมูลที่ยืนยันเกี่ยวกับพนักงานที่ทำงานจากบ้านว่า เป็นกลุ่มที่ทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว

อนิตา วิลเลียมส์ วูลลีย์ อาจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร จากมหาวิทยาลัย คาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University)
อนิตา วิลเลียมส์ วูลลีย์ อาจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร จากมหาวิทยาลัย คาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University)

ทางด้าน อนิตา วิลเลียมส์ วูลลีย์ อาจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร จากมหาวิทยาลัย คาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ระบุว่า “มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในงานที่ทำ เกิดจากการที่ผู้คนมีเวลาพักเป็นระยะ ๆ หรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง” ซึ่งรวมไปถึงการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แล้วค่อยกลับมาแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า วิธีตรวจสอบการทำงานแบบดั้งเดิมอาจส่งผลเสียต่อองค์กรได้

อาจารย์ท่านนี้ ยกตัวอย่าง ในปี 2015 สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (United States Patent and Trademark Office – USPTO) ตัดสินใจนำระบบเฝ้าติดตามการทำงานมาใช้ ปรากฎว่าผลิตผลจากการทำงานปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการลาออกของพนักงานที่สูงขึ้นถึงสามเท่า โดยเชื่อว่าเหล่าลูกจ้างไม่ต้องการทำงานภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้องค์กรต้องสูญเสียบุคลากรที่มีทักษะสูง

บรรยากาศการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานภายในที่ทำงาน
บรรยากาศการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานภายในที่ทำงาน

จากการสำรวจในปี 2024 จัดทำโดย ฟอร์บส์ แอดไวเซอร์ (Forbes Advisor) ชี้ว่า พนักงาน 43% ระบุว่า นายจ้างมีการตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของพวกเขา ส่วนพนักงานที่ทำงานทั้งจากที่บ้านและออฟฟิศ เผยว่าถูกตรวจสอบในระดับที่สูงและเข้มข้นกว่า

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG