ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"Culture Shock" ปัญหาที่นักเรียนต่างชาติต้องเผชิญ


Culture shock
Culture shock
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:30 0:00

นอกจากเรื่องภาษาแล้ว การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ถือเป็นโจทย์สำคัญที่นักเรียนและนักศึกษาที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศต้องเผชิญ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า Culture Shock ขึ้นได้

Tanya Tanyarattinan นักศึกษาไทยชั้นปีที่ 1 ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยของ University of Denver ในรัฐโคโลราโด และพบว่าทุกอย่างช่างแตกต่าง ตั้งแต่สภาพอากาศที่หนาวเย็นต่างจากอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทยแล้ว ยังพบว่าเธอมีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับตัวที่นี่ อย่างเช่น ความเร็วในการพูด เพราะทุกคนพูดภาษาอังกฤษกันเร็วมากจนแทบไม่มีช่องไฟให้แทรกเข้าไปในบทสนทนา

ปัจจุบัน ในโลกที่เทคโนโลยีได้มอบแนวทางในการเรียนรู้เกี่ยวกับอเมริกาในหลายด้าน ทั้งข่าวสาร บทความ หนังสือคู่มือ หรือคลิปวิดีโอเล่าเรื่องการใช้ชีวิตในอเมริกามากมายให้ได้เลือกสรร แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของความแตกต่างที่กว้างใหญ่กว่านั้น

Gudrun Kendon ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษาต่างประเทศ จาก Catholic University of America วิทยาเขตกรุงวอชิงตัน เข้าใจหัวอกของนักศึกษาต่างชาติในอเมริกา เพราะไม่ว่าพวกเขาจะมีประสบการณ์ใช้ชีวิตที่นี่มาก่อนหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในการปรับตัวอยู่ดี เรียกได้ว่า หากชีวิตมหาวิทยาลัยของเด็กอเมริกันนั้นดูยากแล้ว สำหรับนักศึกษาต่างชาติในอเมริกานั้นถือว่ายากกว่า 2-3 เท่าตัวทีเดียว

อย่างแรก คือ ภาษาอังกฤษ ที่นักศึกษาต่างแดนต้องใช้เป็นภาษาที่ 2 หรือ 3 ในชีวิตของพวกเขา รวมทั้งวัฒนธรรมและกฏระเบียบที่เปลี่ยนไปในอเมริกา เช่น การมาสาย ที่หลายชาติอาจยอมรับได้ แต่สำหรับอเมริกาไม่ใช่แบบนั้น หรือการตอบรับว่า “yes” เอาไว้ก่อน เพราะกลัวว่าการบอกว่า “ไม่” จะถือเป็นการเสียมารยาทในวัฒนธรรมเอเชีย

และสิ่งสำคัญที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ เห็นจะเป็นรูปแบบการศึกษาในอเมริกา ที่มีการประเมินการเรียนกันบ่อยครั้ง เพราะบางชาติ อาจให้ครูผู้สอนอธิบายไปแล้วให้เด็กจดตาม และไปวัดผลกันในการสอบปลายภาคเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับการศึกษาสไตล์อเมริกัน การทำแบบทดสอบ รายงาน โปรเจค และการสอบ จะนำมาคิดคำนวณถึงความสามารถในการเรียนแต่ละวิชาของนักศึกษาที่นี่

ที่น่าสนใจ คือ ประเด็นการคัดลอกหรือขโมยแนวคิดของผู้อื่นมาใช้ หรือ Plagiarism อาจสร้างความสับสนยุ่งยากแก่นักศึกษาต่างชาติเช่นกัน โดย David Rettinger หัวหน้าฝ่ายดูแลความสุจริตทางวิชาการของนักศึกษาต่างประเทศ มองว่า นักศึกษาต่างชาติเขาอาจไม่เข้าใจว่า การหยิบยกแนวคิด บทความทางการศึกษามาใช้ในชิ้นงานของพวกเขา จะต้องมีการวิธีการใช้และให้เครดิตอย่างถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานการศึกษาอเมริกัน ซึ่งอาจทำให้พวกเขามีความผิดฐานคัดลอกบทความหรืองานประพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ

ด้าน Rae Alexander ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษาต่างประเทศ จาก University of Connecticut บอกว่า ความท้าทายไม่ได้มีแค่เรื่องของการเรียนเท่านั้น นักศึกษาต่างชาติหลายคนมีปัญหาทางสุขภาพจิต ตั้งแต่การปรับตัวในการพลัดถิ่น การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย การขาดการสนับสนุนจากครอบครัวที่อยู่ในต่างประเทศ จนอาจเกิดโรคซึมเศร้า ภาวะเครียด ที่ต้องการการดูแลจากแพทย์

อย่างไรก็ตาม Alexander มองว่า หากนักศึกษาก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปได้ ก็จะเติบโตขึ้นไปอย่างแข็งแกร่ง พร้อมกับประสบการณ์ที่ดีในมหาวิทยาลัย ซึ่งการเข้ารับการอบรมปฐมนิเทศก่อนการเรียน การสร้างแรงกระตุ้นให้ตัวเอง และการกำหนดเป้าหมายในการศึกษา จะเป็นการช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนมหาวิทยาลัยที่ดี

รายงานจากมหาวิทยาลัย University of Missouri ที่ศึกษาข้อมูลจากนักศึกษาต่างชาติ 130 คนที่นั่น พบว่า นักศึกษาที่เดินทางมาเรียนในอเมริกาด้วยแนวคิดที่น่าสนใจและมีความหมายในการเรียน จะประสบความสำเร็จในการศึกษา มากกว่ากลุ่มที่ได้รับทุนในสาขาที่ไม่ได้สนใจ หรือได้รับแรงกดดันจากครอบครัว ขณะที่เมื่อเทียบในช่วงอายุ จะพบว่า นักศึกษาที่อายุมากกว่าจะปรับตัวได้ดีกว่านักศึกษาที่อายุน้อยกว่า

XS
SM
MD
LG