เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา IPVM ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอุตสาหกรรมด้านการเฝ้าระวังและความมั่นคงของสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า บริษัท ต้าหัว (Dahua) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านการตรวจจับเฝ้าระวังของจีน ได้จำหน่ายอุปกรณ์กล้องที่ระบุว่า มีคุณลักษณะเด่นอันได้แก่ “ระบบวิเคราะห์สีผิว” ในตลาดยุโรป แต่ “บริษัท(แห่งนี้)ออกมาแก้ต่างว่า ระบบวิเคราะห์ที่ว่า เป็น “ฟีเจอร์ (feature) พื้นฐานของระบบด้านความปลอดภัยมั่นคงอัจฉริยะ”
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการอ่านรายงานฉบับดังกล่าวต้องเสียค่าใช้ก่อนถึงจะเข้าอ่านได้ แต่ IPVM ส่งสำเนา 1 ฉบับให้แก่ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางเพื่อจัดทำข่าวนี้
รายงานของ IPVM ระบุว่า บทแนะแนว ICC Open Platform ของต้าหัวที่เกี่ยวกับ “ลักษณะเฉพาะทางร่างกายมนุษย์” รวมความถึง “สีผิว/ผิวพรรณ” ขณะที่ ฐานข้อมูลที่บริษัทแห่งนี้ระบุว่าเป็น “พจนานุกรรมข้อมูล” ให้รายละเอียดว่า คำว่า “ประเภทของสีผิว” ที่เครื่องมือวิเคราะห์ของต้าหัวพุ่งเป้าตรวจจับนั้นได้แก่ “สีเหลือง” และ “สีดำ” รวมทั้ง “สีขาว” โดยผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ได้ตรวจสอบรายละเอียดที่ว่านี้จากเว็บไซต์ภาษาจีนของต้าหัวและยืนยันว่า ข้อมูลในรายงานดังกล่าวนั้นถูกต้อง
IPVM ยังอธิบายด้วยว่า การตรวจจับสีผิวของเทคโนโลยีของต้าหัวนั้นถูกจัดให้อยู่ในหมวด “การควบคุมบุคลากร” ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่บริษัทโฆษณาว่า เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Smart Office Park สำหรับงานด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่การทำงานที่มีขนาดใหญ่ของธุรกิจในจีน
ชาล์ส โรลเล็ต ผู้ร่วมจัดทำรายงานของ IPVM บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ในระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า “โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ระบบวิเคราะห์วิดีโอนี้ทำก็คือ เมื่อเปิดกล้องใช้งาน กล้องก็จะพยายามวัดสีผิวของใครก็ตามที่เดินผ่าน หรือตรวจจับได้ในคลิปวิดีโอ” และว่า “นั่นก็หมายความว่า กล้องจะพยายามเดาหรือพยายามสรุปให้ได้ว่า คนที่อยู่หน้ากล้อง ... เป็นคนผิวสีดำ สีขาว หรือสีเหลือง ... หรือพูดอีกอย่างก็คือ ตรวจสอบสีผิวนั่นเอง”
วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางลองติดต่อบริษัทต้าหัวเพื่อขอความเห็นแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
รายงานของ IPVM ระบุว่า ต้าหัวได้ขายกล้องที่มีระบบวิเคราะห์สีผิวใน 3 ประเทศในยุโรป อันได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีปัญหาความตึงเครียดด้านสีผิวเมื่อเร็ว ๆ นี้ทั้งสิ้น
‘สีผิวคือฟีเจอร์พื้นฐาน’ ได้อย่างไร
บริษัทต้าหัวกล่าวว่า ความสามารถของอุปกรณ์ของตนในการวิเคราะห์โทนสีผิวนั้นเป็นฟีเจอร์สำคัญสำหรับเทคโนโลยีเฝ้าตรวจจับเฝ้าระวัง โดยระบุในคำแถลงที่ส่งให้ IPVM ว่า “แพลตฟอร์มที่พูดถึงอยู่นี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับความมุ่งมั่นของเราที่ไม่ขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งพุ่งเป้าไปยังเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือพลเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความสามารถในการระบุลักษณะเฉพาะที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น ความสูง น้ำหนัก สีผมหรือสีตา และกลุ่มสีผิวทั่ว ๆ ไป คือ ฟีเจอร์พื้นฐานของผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยอัจฉริยะ”
IPVM ชี้ว่า ระบบการตรวจจับสีผิวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปกตินักในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฮเทคกระแสหลักสำหรับการตรวจจับเฝ้าระวัง และก่อนหน้านี้ ต้าหัวเองก็เคยปฏิเสธข่าวที่ว่า บริษัทได้เสนอขายฟีเจอร์ดังกล่าวให้กับลูกค้าไปแล้ว
สำหรับหลายประเทศในซีกโลกตะวันตกนั้น ความผิดพลาดของการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (facial recognition) โดยการดูสีผิวเป็นประเด็นโต้เถียงในสังคมมานานแล้ว และการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อจุดประสงค์ด้านการสอดส่องเฝ้าระวังก็ทำให้เกิดความกังวลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเรือนอย่างมากด้วย
แอนนา บัชชาเรลลิ ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีขององค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) บอกกับ วีโอเอ ว่า เทคโนโลยีของต้าหัวนั้นไม่ควรมีส่วนที่ทำการวิเคราะห์สีผิวเลย โดยระบุว่า “ทุกบริษัทนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และในการดำเนินตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตน”
ถึงกระนั้น ต้าหัวก็ยังปฏิเสธและยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ตรวจจับเฝ้าระวังของตนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความสามารถจดจำเชื้อชาติ โดยข้อมูลบนเว็บไซต์สาขาสหรัฐฯ ของบริษัท กล่าวว่า “[ความจริงนั้น] ต่างจากข้อกล่าวหาของสื่อบางแห่งอย่างสิ้นเชิง [เพราะ] ต้าหัว เทคโนโลยีส์ ไม่เคยและจะไม่มีทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มชาติพันธ์ใดโดยเฉพาะเป็นอันขาด”
แต่เมื่อย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ทั้ง IPVM และหนังสือพิมพ์ ลอสแอนเจลิส ไทมส์ (Los Angeles Times) ต่างรายงานว่า บริษัทต้าหัวจัดหาระบบเฝ้าระวังด้วยวิดีโอที่มี “คำเตือนอุยกูร์แบบเรียลไทม์” ให้กับตำรวจจีน ซึ่งฟีเจอร์ที่ว่ามีความสามารถในการตรวจจับขนาดของคิ้ว สีผิวและชาติพันธุ์ด้วย
รายงานเชิงสถิติปี 2018 ของ IPVM ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2016 ต้าหัวและ ไฮค์วิชั่น (Hikvision) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบเฝ้าระวังด้วยวิดีโอสัญชาติจีนอีกแห่งได้ทำสัญญามูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อทำงานให้กับรัฐบาลมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยหลักของชาวอุยกูร์
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการด้านการสื่อสารของสหรัฐฯ (U.S. Federal Communications Commission – FCC) ออกข้อกำหนดในปี 2022 ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์จากบริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหลาย อันรวมถึง ต้าหัวและไฮค์วิชั่น ซึ่งล้วนมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และยังได้ออกคำสั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ในสหรัฐฯ “เพื่อใช้ในงานด้านความปลอดภัยสาธารณะ ความปลอดภัยมั่นคงในพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อการสอดส่องดูแลความปลอดภัยทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและจุดประสงค์อื่น ๆ ด้านความมั่นคงของชาติ” แต่เปิดช่องให้มีการจำหน่ายได้สำหรับจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา
แต่ก่อนที่ FCC จะออกคำสั่งห้ามจำหน่ายออกมา ยอดขายผลิตภัณฑ์ของทั้งไฮค์วิชั่นและต้าหัวนั้นอยู่ในอันดับหนึ่งและสองของยอดขายทั่วโลก ตามข้อมูลจากองค์กร The China Project ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์กและเชี่ยวชาญด้านจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับจีน
เทคโนโลยีจดจำใบหน้าและวิเคราะห์สีผิว กับโลกประชาธิปไตยเสรี
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) มีมติอนุมัติรับร่งข้อเสนอกฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นกฎหมายตั้งต้นที่จะเปิดทางไปสู่การออกคำสั่งห้ามใช้ระบบจดจำใบหน้าในที่สาธารณะในประเทศสมาชิกทั้งหมดต่อไป
ก่อนหน้านี้ สเวนยา ฮาห์น ตัวแทนของเยอรมนีในกลุ่มงาน European Parliament and Renew Europe Group บอกกับสื่อ Politico ว่า ขณะที่ ทุกคนรู้จักระบบจดจำใบหน้าสำหรับงานเฝ้าระวังสังเกตการณ์เป็นวงกว้างที่มาจากจีนกันดีอยู่แล้ว “แต่เทคโนโลยีที่ว่านี้ไม่มีที่ยืนในโลกประชาธิปไตยเสรีเลย”
ในประเด็นนี้ แอนนา บัชชาเรลลิ ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีขององค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) ระบุในอีเมลที่ส่งให้ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ตัวเธอ “สงสัยอย่างมากว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่อ้างอิงเชื้อชาติ[จากจีน] จะเป็นเรื่องถูกกฎหมายภายใต้กฎหมายการปกป้องคุ้มครองข้อมูลและกฎหมายอื่น ๆ ของอียูได้หรือ” เพราะกฎหมายที่ชื่อ General Data Protection Regulation (GDPR) ของสหภาพยุโรปที่กำกับดูแลความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลมีเนื้อหาจำกัดการจัดเก็บและการประมวลข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหวอยู่ ดังนั้น หากบริษัทใดก็ตามที่ต้องทำการเช่นนั้น จะต้องมีการนำเสนอข้อมูลสนับสนุนที่เป็นไปตามกฎหมายให้ศาลอนุญาตก่อนจะดำเนินการใด ๆ ต่อไป
การจดจำเชื้อชาติ จุดประสงค์ทางธุรกิจและการเลือกปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงนั้น บริษัทหลายแห่งในซีกโลกตะวันตกก็พยายามพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาช่วยบ่งชี้เชื้อชาติเพื่อนำข้อมูลไปใช้งานทางด้านการตลาดและสนับสนุนการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติอยู่บ้างแล้ว อย่างเช่น กรณีของบริษัทเครื่องสำอางค์เรฟลอน (Revlon) ที่หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานเมื่อปี 2020 ว่า ได้ใช้ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าจากบริษัทสตาร์ทอัพ ไครอส (Kairos) เพื่อวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ใช้เครื่องสำอางค์แบบใด และเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นประเด็นร้อนในกลุ่มนักวิจัยว่า การจดจำเชื้อชาติอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติต่าง ๆ ต่อไปได้
ในสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลสั่งห้ามหมวดธุรกิจบางหมวด เช่น บริการสาธารณสุขและการธนาคาร ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อลูกค้า และบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น ไอบีเอ็ม (IBM) และกูเกิล (Google) รวมทั้งไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีนโยบายจำกัดการให้บริการจดจำใบหน้าต่อหน่วยงานด้านบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว
ในปัจจุบัน รัฐบาลใน 24 รัฐ เคาน์ตี้และเขตเทศบาลของสหรัฐฯ สั่งห้ามหน่วยงานของตนไม่ให้ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในงานด้านการเฝ้าระวังสังเกตการณ์ ส่วนนครนิวยอร์กซิตี้ เมืองบัลติมอร์ และเมืองพอร์ตแลนด์ของรัฐโอเรกอน ห้ามไม่ให้ภาคธุรกิจใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน
ความกังวล?
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองบางรายเชื่อว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้านั้นมีโอกาสประมวลข้อมูลผิดพลาดได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียรุนแรงต่อผู้ที่ถูกจับตาเฝ้าระวังด้วย โดย ชาล์ส โรลเล็ต ผู้ร่วมจัดทำรายงานของ IPVM ยกตัวอย่างว่า “ถ้ากล้องนั้นทำงานในเวลากลางคืน หรือเป็นพื้นที่ที่มีแสงเงา ระบบก็อาจจัดหมวดหมู่คนในภาพผิดพลาดได้”
ส่วน เคทลิน ชิน นักวิจัยจาก Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งค้นคว้าเรื่องของกฎเกณฑ์ด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และหลายประเทศ ให้ความเห็นว่า ขณะที่ บริษัทเทคโนโลยีในตะวันตกมักใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก บริษัทในจีนมักยินดีที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเองช่วยงานหน่วยงานรัฐบาลในการสอดส่องดูประชาชน
ชิน ระบุในการให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอคอลล์กับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทั้งลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างมากและเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างสูงจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ก็อาจเกิดการจับกุมตัวผู้ต้องหาผิดคน หรือทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้คนได้
นักวิจัยรายนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายและการสอดส่องดูแลของภาครัฐ ผู้คนที่มีสีผิวเข้มมักถูกติดตามและจับตาดูในสัดส่วนที่มากกว่าคนกลุ่มอื่นอยู่แล้ว “ดังนั้น กล้องของต้าหัวก็จะยิ่งทำให้คนเรายิ่งทำการเช่นนั้นได้ง่ายขึ้น ด้วยการช่วยคัดแยกคนตามสีผิวให้นั่นเอง”
- ที่มา: วีโอเอ