ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักบินอวกาศจีนเดินทางถึงสถานีอวกาศเทียนกงก่อนเริ่มภารกิจนาน 6 เดือน


A screen grab taken at Beijing Aerospace Control Center in Beijing, China, Oct. 16, 2021, and released by Xinhua News Agency, shows three Chinese astronauts waving after they entered China's Tiangong space station core module Tianhe.
A screen grab taken at Beijing Aerospace Control Center in Beijing, China, Oct. 16, 2021, and released by Xinhua News Agency, shows three Chinese astronauts waving after they entered China's Tiangong space station core module Tianhe.

ทีมนักบินอวกาศจีนสามคนเดินทางถึงสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนในวันเสาร์ ก่อนที่จะเริ่มภารกิจในวงโคจรรอบโลกเป็นเวลาหกเดือน ซึ่งถือเป็นโครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปอาศัยอยู่ในอวกาศที่ยาวนานที่สุดของจีน

สำนักงานอวกาศจีน รายงานว่า จรวดเฉินโจว-13 ที่นักบินอวกาศทั้งสามคนโดยสารไปนั้น เดินทางออกจากศูนย์ปล่อยจรวดจิวกวน ในทะเลทรายโกบีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ และไปถึงสถานีอวกาศเทียนกงในอีกราว 7 ชม.ต่อมา

นักบินอวกาศสามคนดังกล่าวประกอบด้วย หัวหน้าทีม ไจ้ จีกัง (Zhai Zhigang) อดีตนักบินซึ่งเคยเดินอวกาศเป็นคนแรกของจีนเมื่อปี ค.ศ. 2008 หวัง หย่าปิง (Wang Yaping) สตรีคนแรกของจีนที่ได้ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศ และ หยี กวงฟู (Ye Guangfu) อดีตนักบินของกองทัพจีน

นักบินอวกาศสามคนจะใช้เวลาในช่วง 180 วันข้างหน้าเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ และทดสอบเทคโนโลยีสำหรับติดตั้งส่วนเพิ่มเติมของสถานีอวกาศเทียนกงในอนาคต ก่อนที่สถานีอวกาศนี้จะสามารถใช้งานจริงในปีหน้า และคาดว่าจะโคจรอยู่รอบโลกเป็นเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ นักบินอวกาศจีนยังจะมีแผนการทดสอบ "เดินในอวกาศ" อีกหลายครั้ง

สถานีอวกาศ “เทียนกง” ของจีน ซึ่งแปลว่า "วังสวรรค์" จะกลายเป็นสถานีอวกาศลำที่สองที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกในปัจจุบัน ต่อจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ที่เป็นโครงการความร่วมมือของสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น

จีนเริ่มโครงการสถานีอวกาศเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศระหว่างประเทศเนื่องจากเสียงคัดค้านของสหรัฐฯ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ

XS
SM
MD
LG