จีนเปิดเผยแผนขยายสถานีอวกาศของตนให้ใหญ่ขึ้นเท่าตัวภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เพื่อจะได้เป็นตัวเลือกให้กับนักบินอวกาศจากชาติอื่น ๆ ในการปฏิบัติภารกิจใกล้โลก นอกเหนือจากการใช้งานสถานีอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ซึ่งใกล้หมดอายุใช้งานลงเรื่อย ๆ แล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
สถาบันเทคโนโลยีอวกาศของจีน (China Academy of Space Technology – CAST) ซึ่งเป็นคู่สัญญาหลักด้านกิจการอวกาศของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง กล่าวระหว่างร่วมงาน International Astronautical Congress ครั้งที่ 74 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ในวันพุธ ว่า อายุการใช้งานสถานีอวกาศของจีนจะนานกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้าถึง 5 ปี
สถานีอวกาศจีนที่มีชื่อว่า เทียนกง หรือ วังสวรรค์ หรือ วิมานลอยฟ้า เริ่มใช้งานได้เมื่อปลายปี 2022 และเคยได้ต้อนรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 3 คน ขณะโคจรที่ระดับความสูง 450 กิโลเมตรจากพื้นโลก
ถ้าหาก เทียนกงมีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 6 โมดูล จาก 3 โมดูลในปัจจุบัน สถานีอวกาศสัญชาติจีนก็ยังจะมีมวลที่น้อยกว่าของสถานีอวกาศของนาซ่าที่รองรับนักบินอวกาศได้มากที่สุด 6 คนและโคจรมารอบโลกมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษถึง 60%
มีการคาดว่า สถานีอวกาศของนาซ่าจะถูกปลดระวางหลังปี 2030 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนประกาซว่า ตนจะได้ก้าวขึ้นมาเป็น “มหาอำนาจด้านกิจการอวกาศ”
อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านอวกาศของยุโรป (European Space Agency – ESA) เปิดเผยเมื่อก่อนหน้านี้ว่า ทางตนไม่ได้รับไฟเขียวด้านงบประมาณ หรือ “ทางการเมือง” ให้เข้าร่วมใช้งานสถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งหมายถึงฝันของฝ่ายจีนที่ยังไม่มีโอกาสเป็นจริงเท่าใด
ในเรื่องนี้ สื่อ Global Times ของทางการจีน เคยให้ความเห็นไว้ว่า การที่ยุโรปยอมไม่ร่วมมือกับจีนในด้านกิจการอวกาศ ถือเป็น “การมองการใกล้” และยังแสดงให้เห็นว่า ภาวะการแข่งขันด้านอวกาศรอบใหม่ระหว่างฝ่ายที่หนุนสหรัฐฯ และจีนกำลังก่อตัวขึ้นแล้ว
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น