จีนส่งยาน 'เสินโจว-16' พร้อมนักบินอวกาศสามคน ขึ้นไปอวกาศในวันอังคาร เพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานีอวกาศเทียนกงในวงโคจรรอบโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นำนักวิทยาศาสตร์พลเรือนเดินทางไปในอวกาศด้วย
รัฐบาลจีนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการด้านอวกาศ โดยมีเป้าหมายส่งมนุษย์ขึ้นไปดวงจันทร์ก่อนปี 2030 และแข่งขันกับสหรัฐฯ และรัสเซีย
จรวดลองมาร์ช 2เอฟ (Long March 2F) บรรทุกยานเสินโจว-19 (Shenzhou-16) เดินทางออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียม จิวกวน (Jiuquan Satellite Launch Center) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น
นักบินอวกาศสามคนที่เดินทางไปกับยานเสินโจว-16 คือ ผู้บัญชาการ จิง ไห่เผิง, วิศวกร จู หยางจู และนักวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ กุย ไห่เฉา ซึ่งเป็นพลเรือนจีนคนแรกที่ได้เดินทางขึ้นไปในอวกาศ
ยานเสินโจว-16 จะเข้าเทียบที่สถานีอวกาศเทียนกงเพื่อส่งนักบินอวกาศทั้งสามคนไปประจำที่นั่นในช่วงหกเดือนข้างหน้า และรับนักบินชุดที่แล้วจำนวนสามคนกลับมายังโลกหลังจากประจำการที่เทียนกงมาหกเดือนเช่นกัน
โฆษกโครงการด้านอวกาศจีน หลิน ซีเจียง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ภารกิจนี้จะรวมถึงการทดสอบครั้งใหญ่ในวงโคจรโลก เพื่อศึกษาปรากฎการณ์ควอนตัม พิสูจน์สัมพันธภาพทั่วไป และตรวจสอบแหล่งที่มาของสิ่งมีชีวิตบนโลก
โฆษกผู้นี้ยังกล่าวถึงแผนการตั้งฐานของจีนบนดวงจันทร์ และการส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์ภายในปี 2030
โครงการอวกาศของจีนก้าวกระโดดไปไกลในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยจีนได้ส่งสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) เข้าสู่วงโคจรรอบโลก รวมทั้งส่งยานสำรวจลงบนดาวอังคารและดวงจันทร์ ถือเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐฯ และรัสเซียที่สามารถส่งมนุษย์ไปในอวกาศได้สำเร็จ
- ที่มา: เอเอฟพี