หลังจากที่การประชุมใหญ่ครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิตส์จีนเสร็จสิ้นลง มีการประกาศรายชื่อสมาชิกเจ็ดคนในคณะกรรมการถาวร Politburo ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจของพรรค
โดยในจำนวนนี้มีสองคนที่ได้รับเลือกกลับมาใหม่ คือประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กับ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง
และมีสมาชิกใหม่อีกห้าคน ซึ่งประกอบด้วยที่ปรึกษาใกล้ชิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สองคน อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากจังหวัดซานสี ผู้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านวินัยของพรรค และมีหน้าที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาคอรัปชั่น พร้อมทั้งรองนายกรัฐมนตรีของจีน กับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จากนครเซี่ยงไฮ้ รวมเป็นเจ็ดคน
การประชุมใหญ่ครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ เป็นผลให้มีการเพิ่มชื่อและวิสัยทัศน์สำหรับประเทศจีนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ลงในธรรมนูญของพรรคด้วย
และถือเป็นการผนึกอำนาจเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคนปัจจุบัน ในฐานะผู้นำซึ่งทรงอิทฺธิพลมากที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง
อย่างไรก็ตาม คำถามที่มีอยู่ก็คือทำไมจึงไม่มีการระบุหรือกำหนดตัวผู้ที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิงอย่างชัดเจน?
เรื่องนี้ได้ทำให้นักวิเคราะห์การเมือง อย่างเช่น นายจาง หมิง อดีตผู้สอนที่มหาวิทยาลัย Renmin ของจีน เชื่อว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้อำนาจของพรรค จากการมีคณะผู้นำร่วม เป็นการมีผู้นำหลักเป็นแกนกลางเพียงคนเดียว และลดบทบาทความสำคัญของคณะกรรมการถาวร Politburo ลง
ส่วนคุณอเล็กซานเดอร์ นีล นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน International Institute for Strategic Studies Asia ก็มองว่า การไม่กำหนดทายาททางการเมืองที่แน่นอน อาจเป็นความพยายามเพื่อสร้างเสถียรภาพและความต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังกังวลเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และการแตกแยกทางความคิดในสังคม
หรืออาจเป็นความพยายามของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่จะรวบอำนาจทางการเมือง
และว่าเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังพยายามใช้คณะกรรมการถาวร Politburo เป็นที่บ่มเพาะผู้นำรุ่นต่อไปในช่วงห้าปีต่อจากนี้
หรือมิฉะนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจจะยังไม่เห็นว่ามีบุคคลใดมีความสามารถเหมาะสมที่จะเป็นทายาททางการเมืองของตนในขณะนี้