ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนส่งสัญญาณเตือนออสเตรเลีย-เวียดนาม กรณีจัดตั้ง ‘หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์’


นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโทนี อัลบาเนซี และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ แลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างกัน หลังร่วมพิธีลงนามที่อาคารรัฐสภาออสเตรเลียน ที่กรุงแคนเบอร์รา เมื่อ 7 มี.ค. 2567
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโทนี อัลบาเนซี และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ แลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างกัน หลังร่วมพิธีลงนามที่อาคารรัฐสภาออสเตรเลียน ที่กรุงแคนเบอร์รา เมื่อ 7 มี.ค. 2567

พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของออสเตรเลียและเวียดนามที่นำไปสู่การจัดทำความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของสองประเทศกลายมาเป็นประเด็นที่จีนหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการเตือนเรื่องการตั้ง “กลุ่มวงในพิเศษ” ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกทันที

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุระหว่างการแถลงข่าวประจำวันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “การสนับสนุนส่งเสริมให้มีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มและการสร้างกลุ่มวงในพิเศษนั้นเป็นการขัดแย้งกับแนวโน้มในปัจจุบันและปณิธานร่วมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค”

แม้ว่า หวังจะไม่ได้กล่าวถึงชื่อของเวียดนามและออสเตรเลียออกมาตรง ๆ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนพูดถึงเรื่องนี้ขณะตอบคำถามจาก เสิ่นเจิ้น ทีวี (Shenzhen TV) ซึ่งเป็นสื่อรัฐบาลแห่งหนึ่งที่ถามเกี่ยวกับข้อตกลงของสองประเทศนี้ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

ผู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์ทิศทางการทูตของเวียดนามมาเป็นเวลานานให้ความเห็นว่า การตอบโต้ของกรุงปักกิ่งต่อประเด็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership – CSP) นี้ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับการที่รัฐบาลกรุงฮานอยเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ ในภูมิภาครอบตัวอยู่

เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว เวียดนามเพิ่งลงนามข้อตกลง CSP กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของจีน

ทั้งนี้ ข้อตกลง CSP คือ เป็นความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับสูงที่สุดเท่าที่กรุงฮานอยเคยจัดทำกับประเทศใด ๆ และเป็นระดับที่เวียดนามคงไว้กับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซียและเกาหลีใต้มาโดยตลอด โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ หุ้นส่วนต่าง ๆ มีพันธกรณีที่จะรักษาความร่วมมือในหลากประเด็นที่มีความกังวลของทุกฝ่ายและมักจะมิติด้านการทหารอยู่ด้วย

ข้อตกลงดังกล่าวยังพูดถึงพันธกรณีร่วมเพื่อจะบรรลุ “การระงับข้อพิพาททั้งหลายซึ่งรวมถึงกรณีในทะเลจีนใต้ ด้วยหนทางสันติโดยปราศจากการใช้คำขู่หรือการใช้กำลังและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ด้วย

ที่ผ่านมา ขณะที่จีนออกมากล่าวอ้างอธิปไตยของตนเหนือผืนน้ำนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ กรุงปักกิ่งก็ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายจากบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

ฝ่าม ตุ ฮัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวระหว่างร่วมงานแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การยกระดับความสัมพันธ์เวียดนาม-ออสเตรเลียเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านนั้นเป็นขั้นตอนพัฒนาการตามธรรมชาติและเป็นไปตามระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศที่มีมากว่า 50 ปี เพื่อแสวงผลประโยชน์และปณิธานร่วมของประชาชนของทั้งสอง รวมทั้งเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความร่วมมือและความรุ่งเรืองของภูมิภาคและของโลกด้วย

วีโอเอ ติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับคำกล่าวของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานข่าวนี้ โดยทางกระทรวงฯ เพียงอ้างถึงคำแถลงของนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ที่ออกมาในวันลงนาม CSP ที่ระบุว่า “ออสเตรเลียและเวียดนามแบ่งปันเป้าหมายอันเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไปถึงความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลและนวัตกรรม งานด้านกลาโหมและความมั่นคง เศรษฐกิจและการค้า และการศึกษา”

นายกฯ ออสเตรเลียยังกล่าวเสริมด้วยว่า CSP นั้นสะท้อนภาพของ “การร่วมมือของเรา ความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์และเป้าหมายสำหรับภูมิภาคที่เรามีร่วมกัน”

ขณะเดียวกัน ฮา โฮง ฮป นักวิชาการอาวุโสจาก ISEAS Yusof Ishak Research Institute ที่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ภาคภาษาเวียดนาม ทางโทรศัพท์และให้ความเห็นว่า “จริง ๆ แล้ว จีนอาจมีความกังวลว่า เวียดนามอาจขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ มากขึ้น แต่จีนก็ไม่สามารถแสดงความไม่พอใจได้ เพราะเวียดนามนั้นมีเป้าหมายที่จะสร้างความสมดุลด้านความมั่นคงเป็นหลัก”

ฮา ยังกล่าวด้วยว่า ข้อตกลง CSP นั้น “เป็นประโยชน์ทั้งต่อเวียดนามเองและต่อหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงจีนด้วย ... การจัดตั้งข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนนั้นไม่ได้พุ่งเป้าที่จะสร้างก๊กเหล่า หรือสร้างปัญหาให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค” และว่า “ทุกคนตระหนักดีว่า (การจัดทำข้อตกลงดังกล่าว) มีแต่จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนา และในวงกว้างกว่านั้น ก็เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความรุ่งเรืองสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย”

ข้อตกลงที่รัฐบาลฮานอยลงนามกับรัฐบาลแคนเบอร์ราสะท้อนให้เห็น “การทูตไผ่ลู่ลม” ของเวียดนาม ขณะที่ พรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรครัฐบาลอยู่พยายามนำพาตัวเองผ่านภาวะตึงเครียดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ อยู่

วู ดุ๊ก คานห์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งออตตาวา (University of Ottawa) ที่ติดตามการเมืองเวียดนามอย่างใกล้ชิด บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเวียดนาม ว่า ถึงแม้ตนจะเข้าใจปฏิกิริยาของจีน แต่สิ่งที่กรุงปักกิ่งแสดงออกมานั้นยังถือว่า ร้อนใจเร็วเกินไปที่จะกังวลมากมายขนาดนั้นเกี่ยวกับการที่เวียดนามลงนามในข้อตกลง CSP

ศาสตราจารย์วู ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ฮานอยเพิ่งออกมาร่วมรับรองหลักการ “ชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน” (community of common destiny) ของจีน ด้วยจุดประสงค์ที่จะมุ่งแสวง “การพัฒนาร่วมกัน” และ “ความมั่นคงร่วมกัน”

ส่วน วู ซ่วน คัง นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston College) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ความเห็นของจีนนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์(ของจีน)ที่ต้องการจะทำให้เวียดนามคงความเป็นกลางของตนไว้”

วู ระบุในอีเมลที่ส่งถึง วีโอเอ ว่า “จีนไม่ต้องการให้เวียดนามเข้าร่วมกลุ่มก้อนใด ๆ ที่ประกอบไปด้วยประเทศที่จีนมองว่าเป็นพวกต่อต้านจีน เพราะเวียดนามอาจกลายมาเป็นสปริงบอร์ดให้ประเทศเหล่านั้นสร้างความเสียหายให้กับผลประโยชน์ของจีนได้” และว่า “ดังนั้น เวียดนามจึงต้องใช้ความระมัดระวังและไม่ควรทำให้จีนเกิดความสงสัยมากเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จีนทำการโต้ตอบกลับโดยไม่จำเป็น”

และเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเวียดนาม (Vietnam News Agency) รายงานโดยอ้างคำพูดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ คาร์ล เธเยอร์ จาก Australian Defense Force Academy แห่งมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาธ์เวลส์ (University of New South Wales) ว่า การยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) นั้นจะเปิดโอกาสให้มีการหารือเชิงลึกในหลากประเด็นระหว่างเวียดนามและออสเตรเลียมากขึ้น โดยมีการระบุด้วยว่า ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์นี้ โดยเฉพาะในด้านของการศึกษา

ศาสตราจารย์เธเยอร์เชื่อว่า ออสเตรเลียจะให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับเวียดนามเป็นลำดับต้น ๆ และจะส่งเสริมการร่วมโต๊ะหารือซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต เช่นประเด็นภาวะโลกร้อน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่สั่นคลอนและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เป็นต้น

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG