จีนเผชิญความท้าทายหลายด้านตลอดปีที่ผ่านมา ตั้งเเต่โคโรนาไวรัส ความตึงเครียดเรื่องทะเลจีนใต้และไต้หวัน ตลอดจนเเรงกระเพื่อมจากสถานการณ์ตาลิบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถาน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ซับซ้อนในเอเชียและบทบาทของมหาอำนาจตะวันตกในภูมิภาคนี้ ทางการปักกิ่งใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อรักษาอิทธิพลของตนบนเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นักวิเคราะห์มองว่า การผ่อนหนัก ผ่อนเบาของจีนช่วยลดความตึงเครียดในภูมิภาคได้บ้าง แต่สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายในของบางประเทศทำให้เกิดความแบ่งขั้วกับโลกตะวันตกอย่างชัดเจนขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งที่เเสดงถึงความพยายามรักษาสมดุลของจีน เห็นได้จากกรณีของอาเซียนซึ่งสมาชิกหลายรายของสมาคมชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เป็นคู่ขัดแย้งของจีนในเรื่องอธิปไตยเหนือดินเเดนในทะเลจีนใต้
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า จีนจะเป็น “มิตรที่ดีและหุ้นส่วนที่ดี” กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนยังได้บริจาควัคซีนให้เเก่หลายชาติในอเชียอาคเนย์และให้ความช่วยเหลือต่อโครงการระบบพื้นฐาน ที่ไปไกลมากกว่าเอเชียตะวันออกเพราะอัฟกานิสถานซึ่งมีพรมเเดนติดกับจีนก็ได้รับการเสนอให้ความช่วยเหลือจากปักกิ่งด้วยเช่นกัน
แต่ในเวลาเดียวกัน ทางการจีนก็ผ่านกฎหมายควบคุมพรมเเดนให้สามารถให้อาวุธได้ตลอดชายเเดนทางบกของจีนที่มีระยะทางยาวกว่า 22,000 กิโลเมตร
นักวิเคราะห์อาวุโส เดริค กรอสส์เเมน แห่งบริษัท Rand Corporation ของสหรัฐฯ กล่าวว่าจีนมีเครื่องมือมากขึ้น ที่จะใช้หากต้องการลงโทษประเทศที่ไม่สนองตอบผลประโยชน์ของตน
เครื่องมือที่หลากหลายมาพร้อมกับความสัมพันธ์ที่มีหลายมิติกับประเทศในเอเชีย
ผู้สันทัดกรณีมองว่าการที่ประธานาธิบดีสีกล่าวที่การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ว่าจะเป็น “มิตรที่ดี” ต่ออาเซียนส่วนหนึ่งเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดกับฟิลิปปินส์ และอีกสามประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นคู่กรณีกับรัฐบาลปักกิ่งเรื่องทะเลจีนใต้
นอกจากนี้อาจารย์เจฟฟรีย์ คิงสตัน แห่งมหาวิทยาลัยเทมเพิลที่ญี่ปุ่นกล่าวว่าจีนยังใช้การสนับสนุนเรื่องวัคซีนช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสในทางการทูตด้วย
ส่วนการเปลี่ยนเเปลงในเมียนมาซึ่งรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้เมียนมากลายเป็นประเทศเผด็จการ เหตุการณ์นี้เอื้ออำนวยให้จีนเข้าไปมีบทบาทในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและแหล่งทรัพยากรต่างๆ ในเมียนมามากขึ้น ขณะที่เมียนมาถูกตำหนิจากโลกตะวันตก ตามทัศนะของอาจารย์คิงสตัน
ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเล่นบทผู้ให้
เเต่บางครั้งจีนเเสดงท่าทีที่เเข็งกร้าวจนเกิดคำเรียก "wolf warrior" diplomacy โดยสถาบันวิจัย National Bureau of Asian Research เพื่ออธิบายการทูตจีนในยุคปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงการเเสดงออกอย่างเปิดเผยในเรื่องที่ทางการปักกิ่งไม่เห็นด้วย
ดังนั้นการทูตเเบบ wolf warrior จึงเเตกต่างจากการทูตจีนในอดีตที่เต็มไปด้วยการสงวนท่าที
ตัวอย่างนี้ เห็นได้จากความขัดเเย้งเรื่องไต้หวัน ที่จีนส่งเครื่องบินทหารเข้าสู่น่านฟ้า ที่เป็นเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ ไต้หวันเเทบทุกวันในปีนี้
อาจารย์คิงสตันมองว่าการทูตเเบบ wolf warrior ไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์เชิงบวกต่อจีนบทเวทีโลก และ “สร้างความกระวนกระวายใจในภูมิภาคเอเชีย”
นักวิจัยแอรอน ราบีนา จากสถาบัน Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation กล่าวว่าการเล่นบทที่เเข็งกร้าวของจีนทำให้พันธมิตรโลกตะวันตกรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อหนุนท่าทีของประเทศคู่กรณีของจีนในเรื่องทะเลจีนใต้
และที่น่าจับตามองต่อไปในปีหน้า คือท่าทีของจีน ที่โอลิมปิกฤดูหนาวที่จีนเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อังกฤษและเเคนาดาคว่ำบาตรด้วยการไม่ส่งตัวเเทนการทูตร่วมมหกรรมกีฬาครั้งนี้ ด้วยเหตุผลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน