ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เงินเฟ้อหลบไป! จีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด' หลังดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง


FILE - People walk in a shopping mall in Beijing on June 15, 2023.
FILE - People walk in a shopping mall in Beijing on June 15, 2023.

ในขณะที่ประเทศทางตะวันตกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง จีนกลับเจอกับปัญหาที่แตกต่างออกไป คือความเสี่ยงที่จะเกิด 'วิกฤตเงินฝืด' ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในอนาคต

ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนแทบไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4%

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนลดลง 5.4% จากปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินค้าอาจลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของจีนโดยรวม

ปกติแล้วราคาสินค้าที่ถูกลงถือเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่การที่ราคาสินค้าลดลงต่อเนื่องและกระจายไปในหลายอุตสาหกรรมอาจกลายเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ระดับเงินเฟ้อที่ดีต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ คือ 2% ต่อปี แต่หากต่ำกว่านั้นหรือถึงขั้นติดลบจนกลายเป็น 'ภาวะเงินฝืด' อาจจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจได้

ศาสตราจารย์แกรี เจฟเฟอร์สัน แห่งภาควิชาการค้าและการเงินระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University) กล่าวว่า "เงินฝืดคือสัญญาณของความอ่อนแอและความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ" ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย นำไปสู่ผลเสียหลายด้าน

People shop for food at an open air market in Shenyang, in China's northeast Liaoning province, on July 10, 2023.
People shop for food at an open air market in Shenyang, in China's northeast Liaoning province, on July 10, 2023.

นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดยังอาจสร้างแรงกดดันต่อผลกำไรของธุรกิจต่าง ๆ ทำให้อัตราค่าแรงลดลงหรือการจ้างงานลดลง ชะลอการลงทุนและลดประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งผลต่อความสามารถในการชดใช้หนี้ของประชาชนและบริษัทต่าง ๆ ด้วย

ศาสตราจารย์เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า รัฐบาลอาจต้องนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากในอดีต รัฐบาลปักกิ่งมักใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จนมาถึงจุดที่อัตราผลตอบแทนของการลงทุนดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่า อีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลจีนอาจนำมาใช้ได้ คือการกระตุ้นที่ภาคครัวเรือนโดยตรง ด้วยการอัดฉีดเงินที่ครอบครัวชาวจีนสามารถใช้จ่ายได้ผ่านโครงการต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก แต่ศาสตราจารย์เจฟเฟอร์สันเชื่อว่า ทั่วโลกจะรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในจีน

ศาตราจารย์เจฟเฟอร์สันชี้ว่า "เรื่องนี้ถือเป็นดาบสองคมสำหรับผู้คนทั่วโลก เพราะการเกิดเงินฝืดและความต้องการที่ลดลงในจีน หมายถึงจีนจะส่งออกสินค้าน้อยลงด้วย" และว่า "ในทางกลับกัน เมื่อจีนส่งออกน้อยลงก็หมายความว่าราคาสินค้าอาจจะคงที่หรือลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อหลายประเทศที่กำลังพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน"

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG