ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: อนาคตเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร เมื่อประชากรลดลง


China Population
China Population

ทางการจีนประกาศตัวเลขประชากรของปีที่แล้วในวันอังคารซึ่งชี้ว่า ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง ตามรายงานของเอพี

สถิตินี้ แสดงถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในวันเดียวกัน สำนักงานสถิติของจีนเปิดเผยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 3% ถือว่า เป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดอันดับสองตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1970 เป็นอย่างน้อย

ครั้งสุดท้ายที่จีนประสบกับจำนวนประชากรที่ลดลงคือในยุคของอดีตผู้นำ เหมา เจ๋อตุง ที่นโยบาย Great Leap Forward ของเขาทำให้เกิดความอดยากและมีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบล้านคน ในปลายทศวรรษที่ 1950

หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหาจากประชากรสูงอายุ แต่ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า จีนน่าจะเจอปัญหาในการรับมือกับสถานการณ์นี้ในอนาคตยากยิ่งกว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

ยี่ ฟูเสี้ยน นักประชากรศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ระบุว่า “จีนกลายเป็นประเทศที่มีคนสูงอายุมาก ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศร่ำรวย”

ตัวเลขล่าสุดสะท้อนการเกิดที่ลดลง

ในรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติของจีน ชาวจีนมีจำนวนลดลง 850,000 เมื่อปีที่แล้วเทียบกับปีก่อนหน้านั้น โดยสถิติดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่

สาเหตุหนึ่งที่ประชากรหดตัวมาจากจำนวนเด็กทารกเกิดใหม่ของจีนในปีที่แล้ว ซึ่งลดลง กว่า 1 ล้านคน มาอยู่ที่ 9,560,000 คน เทียบกับ จำนวนการเสียชีวิตของประชากร 10,410,000 คน

เอพีรายงานว่า ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า การระบาดของโคโรนาไวรัสมีผลต่อจำนวนประชากรจีนหรือไม่อย่างไร

ยี่ ฟูเสี้ยน นักประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ประชากรจีนลดลง 9-10 ปีเร็วกว่าที่ทางการปักกิ่งที่สหประชาชาติคาดการณ์ไว้ และจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกน่าจะถูกแซงหน้าโดยอินเดียอีกไม่นานนี้ หรือไม่ก็ถูกแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว

China Population
China Population

ทั้งนี้ จีนพยายามกระตุ้นการเติบโตของประชากรประเทศตน ตั้งแต่ยุตินโนบาย “one-child policy” ที่ให้ประชากรมีลูกคนเดียว เมื่อ 7 ปีก่อน หลังดำเนินแนวทางดังกล่าวในช่วงปี 1980-2015

แม้รัฐบาลอยากให้คนมีลูกมากขึ้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก ซึ่งสะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในเอเชียตะวันออก

สาเหตุหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ คือการเลี้ยงดูบุตรในเมืองใหญ่ของจีนมีค่าใช้จ่ายสูง

ยี่ ด้วยกล่าวว่า การวิเคราะห์ของเขา ชี้ว่า ประชากรจีนเริ่มลดลงตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน และอัตราการเกิดที่ต่ำของจีน อยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเทียบได้กับของไต้หวันและเกาหลีใต้

เขามองว่า จีนจะค่อย ๆ เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่รุนแรงกว่าญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจเติบโตช้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีประชากรลดลง

ที่น่าสนใจคือ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มาจากประชากรที่ลดลง เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นกับอเมริกาที่สกัดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ

ที่ผ่านมาจีนแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำอย่างไร?

จีนนำมาตรการลูกคนเดียว (one-child policy) มาใช้ในช่วงปี 1980-2015 จากความกังวลด้านเศรษฐกิจจากการขยายตัวของประชากรที่รวดเร็วเกินไป โดยทางการระบุว่า นโยบายนี้ป้องกันการกำเนิดของเด็กราว 400 ล้านคน ตามรายงานของรอยเตอร์

ในปี 2021 รัฐบาลปักกิ่งอนุญาตให้คู่สมรสมีลูกได้ 3 คนต่อครอบครัว และผุดนโยบายจูงใจเพื่อกระตุ้นการมีลูกของชาวจีน และเมื่อปี 2021 รัฐบาลท้องถิ่นในจีนออกมาตรการกระตุ้นการมีลูก รวมทั้งการลดหย่อนภาษี การให้ลาคลอดได้นานขึ้น รวมทั้งเงินอุดหนุนด้านอสังหาริมทรัพย์กับครอบครัวที่มีลูก

เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติจีนเรียกร้องให้รัฐบาลกลางและส่วนภูมิภาคเพิ่มงบประมาณด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และปรับปรุงบริการดูแลเด็กทั่วประเทศ

สภาท้องถิ่นของจีนระบุเมื่อปีที่แล้วว่าจะออกมาตรการใหม่ เพื่อให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น และมีทางเลือกในการทำงานที่บ้าน สำหรับพนักงานที่มีลูก พร้อมระบุให้ทางการท้องถิ่นจัดหาอยู่อาศัยพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีเด็กหลายคน เช่น จัดหาอพาร์ตเมนต์ที่ใหญ่ขึ้นมารองรับ

ทางการท้องถิ่นที่เซินเจิ้น ตอนใต้ของจีน ให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสที่มีลูก 3 คนหรือมากกว่านั้น ราว 6,000 หยวน (ราว 30,000 บาท) ต่อปีสำหรับลูกหนึ่งคน ไปจนกว่าเด็กจะอายุครบ 3 ปี

ส่วนที่เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง แม่ที่มีลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3 สามารถรับเงินช่วยเหลือ 600 หยวน (ราว 3,000 บาท) ต่อเดือน ไปจนกว่าเด็กจะอายุครบ 3 ปี

China Economy
China Economy

ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจีนเปรียบเทียบกับอินเดีย

ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ สจ๊วต เก็ตเทล-บาสเตน แห่งมหาวิทยาลัย คาลิฟา ที่อาบูดาบีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า การลดลงประจำนวนประชากรไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงเสมอไป โดยระบุว่า ปัจจัยด้านจิตวิทยาน่าจะเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญที่สุด

เขากล่าวว่า จีนพยายามรับมือกับเรื่องนี้ด้วยการยกระดับด้านนวัตกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และภาคบริการการเงิน

นักวิชาการผู้นี้เสริมว่า แม้ว่าอินเดียจะมีประชากรที่อายุน้อยกว่าจีน และมีประชากรเพิ่มขึ้น แต่ก็มีปัจจัยที่น่าจะขัดขวางการแซงหน้าจีนด้านเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วยเช่นกัน เช่น การที่สตรีมีบทบาทในตลาดการจ้างงานน้อยกว่าจีนอย่างชัดเจน

  • ที่มา: เอพี รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG