เหตุการณ์ประท้วงที่ปะทุขึ้นมาทั่วจีนเพื่อต่อต้านมาตรการอันเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ถือเป็นการลุกขึ้นมาชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของประชาชนนับตั้งแต่เกิดการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ. 1989
ตัวทำปฏิกิริยาซึ่งผลักดันให้ประชาชนในจีนออกมาร่วมประท้วงรอบนี้ก็คือ เหตุอัคคีภัยที่กลุ่มอาคารอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ที่ตกเป็นเป้าการกดขี่ของรัฐบาลจีนมาโดยตลอด
ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คนในกองเพลิง ขณะที่ มาตรการจำกัดอันเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดส่งผลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวไม่สามารถหนีภัยออกมาได้และทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้เช่นกัน
ในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมบางรายส่งสารแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศออกมาด้วย อย่างเช่น ที่นครเซี่ยงไฮ้ ผู้ประท้วงได้พากันร้องตะโกน “สี จิ้นผิง! ลาออกไป! CPP! (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) ลาออกไป!” เป็นต้น
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน กรุงปักกิ่งได้ออกมากล่าวอ้างอย่างคลุมเครือว่า มี “แรงกำลังพร้อมจุดประสงค์แอบแฝง” อยู่เบื้องหลังการประท้วง และกล่าวว่า ทางการท้องถิ่นได้ยืนยันปฏิเสธ “การป้ายสีและข้อมูลเรื่องนี้” ที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุอัคคีภัยที่อุรุมชีมีความเกี่ยวเนื่องกับมาตรการจำกัดควบคุมการระบาดของโควิด-19
แต่เว็บข่าวเอกชน Pravda.ru ของรัสเซียนำประเด็นนี้มาขยายความเพื่อทำการกล่าวหาที่หนักขึ้นและโทษสหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุของการประท้วง โดย ลูบอฟ สเตพูโชวา คอลัมนิสต์ของสื่อแห่งนี้ระบุในบทความของเธอว่า:
“การประท้วงนั้นมีลักษณะทุกประการของ 'การปฏิวัติสี' ... การพยายามทำรัฐประหารอย่างนี้มักเป็นฝีมือของพวกผู้มีอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา”
นี่คือความเท็จ เพราะสเตพูโชวาไม่ได้นำเสนอหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ และการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในจีนเลย แม้ว่า ทำเนียบขาวจะตั้งคำถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน และแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวจีนให้ใช้สิทธิ์ออกมาแสดงความคิดเห็นของตนก็ตาม
การเคลื่อนไหวประท้วงที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นมักมีการนำสี ๆ หนึ่งมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของตน อย่างเช่น เหตุการณ์ปฏิวัติสีส้มปี 2004 ในยูเครน และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเครมลินและหลายฝ่ายจึงมักนำประเด็น “การปฏิวัติสี” มากล่าวอ้างเรียกเหตุการณ์ต่าง ๆ เสมอ
ส่วนที่อิหร่าน สื่อของรัฐใช้คำว่า “การปฏิวัติสี” เพื่อลดความน่าเชื่อถือของการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หลังการเสียชีวิตของ มาห์ซา อะมินี สตรีวัย 22 ปี เมื่อวันที่ 22 กันยายน หลังเธอถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในข้อหาสวมผ้าคลุมผม หรือ ฮีญาบ ไม่ถูกต้อง
สเตพูโชวา ระบุในบทความคิดเห็นพิเศษที่ตีพิมพ์ทางเว็บไซต์ Pravda.ru ว่า การที่ผู้ชุมนุมในจีนใช้กระดาษเปล่าสีขาวนั้น คือ “สัญลักษณ์” ของการปฏิวัติสี และว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงระหว่างปี ค.ศ. 2019-2020 ก็มีการใช้สัญลักษณ์แบบเดียวกันนี้ด้วย
สเตพูโชวา ยังระบุด้วยว่า “ทางการจีนเรียกการชุมนุมประท้วงเหล่านั้นว่าเป็น ‘การปฏิวัติสี’ โดยทั้งหมดนั้นได้รับการประสานงานโดยหัวหน้าฝ่ายการเมืองของสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ประจำฮ่องกง” พร้อมชี้ว่า “การชุมนุม ‘ต่อต้านสงคราม’ ในกรุงมอสโกเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการใช้กระดาษขาวเหมือนกัน”
ในความเป็นจริง ผู้ชุมนุมในฮ่องกงและรัสเซียนั้นใช้กระดาษเปล่าด้วยเหตุผลเดียวกัน – เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกอย่างโหดร้ายและการทำให้การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติกลายมาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ที่รัสเซียนั้น ผู้กระทำผิดในข้อหาเผยแพร่ “ข่าวเท็จ” เกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธรัสเซีย ซึ่งรวมความถึง การเรียกสงครามในยูเครนว่าเป็น ‘สงคราม’ หรือ ’การรุกราน’ อาจต้องรับโทษด้วยการจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 15 ปี
ส่วนที่ฮ่องกงนั้น กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งประกาศใช้มาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019 ระบุให้การแสดงออกอย่างเสรีและกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สื่อข่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และยังมีการระบุเกี่ยวกับ “การกระทำที่มุ่งล้มล้าง” แบบหลวม ๆ ไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งผู้กระทำผิดอาจถูกลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิตได้ด้วย
นอกจากนั้น ผู้ชุมนุมประท้วงทั้งในรัสเซียและฮ่องกงถูกจับกุมตัวเพราะออกมายืนถือป้ายกระดาษเปล่าด้วย ซึ่งประเด็นนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ทั้งสองแห่งนี้ขาดซึ่งภาวะการแสดงออกและการชุมนุมอย่างเสรีจริง ๆ
และอาจเป็นเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนร่วมชาติในฮ่องกง นักศึกษาในหลายเมืองของจีน อาทิ กรุงปักกิ่งและนครหนานจิง พากันออกมายืนถือกระดาษเปล่ากัน ซึ่งรอยเตอร์ชี้ว่า เป็น “ลูกเล่นที่ใช้เพื่อหวังหลบเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์หรือการถูกจับกุม”
ผู้ประท้วงรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งบอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “กระดาษเปล่าสีขาวนั้นเป็นตัวแทนทุกอย่างที่เราต้องการจะกล่าว แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้”
ส่วน ลอว์รา เหอ ผู้สื่อข่าวของ ซีเอ็นเอ็น อธิบายว่า กระดาษเปล่าสีขาวนั้นเป็น “การอุปมาอุปมัยโพสต์เนื้อหาหนัก ๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ บทความข่าว และบัญชีออนไลน์ที่แสดงความคิดเห็นอย่างโผงผาง ที่ถูกลบออกไปจากอินเทอร์เน็ต ขณะที่ ผู้คนนับพันนับหมื่นคนออกมาประท้วงกันตามท้องถนน”
ทั้งนี้ คำว่า “กระดาษขาว” นั้นเป็นคำที่ถูกเซ็นเซอร์ทางสื่อสังคมออนไลน์จีนมาสักพักแล้ว
ถึงกระนั้น ผู้ชุมนุมในฮ่องกงก็ออกมายืนชูป้ายกระดาษเปล่า ๆ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วงในจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว
ผู้ชุมนุมในกรุงปักกิ่งที่ได้ยินคำกล่าวหาว่า พวกตนถูกพลังผลักดันจากภายนอกให้ออกมาประท้วงนั้น แสดงความรู้สึกขบขันกันถ้วนหน้า โดยมีรายหนึ่งตั้งคำถามว่า ใช่แรงกำลังจากต่างประเทศหรือไม่ที่เป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ไฟไหม้ในซินเจียง หรือเป็นตัวการคว่ำรถโดยสารที่กำลังมุ่งหน้าไปยังพื้นที่กักตัวเฝ้าระวังอาการในมณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 คนและบาดเจ็บอีก 20 คน
ผู้ประท้วงรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า ชาวจีนนั้นไม่สามารถใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตนอกประเทศได้ เนื่องจากระบบ Great Firewall ของรัฐบาลจีน ทำให้ต้องถามว่า “แรงกำลังจากต่างชาติจะมาสื่อสารกับพวกเราได้อย่างไร”
การกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานของสเตพูโชวาที่ว่า สถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ในฮ่องกง “เป็นผู้ประสานงานการประท้วง” อาจเป็นการพูดถึงความจริงที่ว่า นักการทูตสหรัฐฯ รายหนึ่งเคยได้พบกับสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2019
หลังจากเหตุการณ์นั้น กรุงปักกิ่งทำการปล่อยข้อมูลส่วนตัวของนักการทูตรายนี้ออกมา ซึ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตำหนิอย่างเป็นทางการทันที โดย เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในเวลานั้น กล่าวว่า “นักการทูตต่างชาติในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง ที่มาจากจีน ล้วนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเมือง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคธุรกิจของอเมริกันได้หมด”
ส่วนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากผู้คนในเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมในเดือนสิงหาคม 2019 นั้น มีผู้เข้าร่วมถึงราว 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรฮ่องกง แม้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกคำสั่งให้ทุกคนอยู่บ้านก็ตาม
สเตพูโชวา ยังอ้างด้วยว่า สหรัฐฯ พยายาม “เร่งให้เกิดการทำรัฐประหาร” ในจีน หลังรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party - DPP) ของไต้หวันที่มีจุดยืนสนับสนุนการประกาศอิสรภาพจากจีนประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ในไต้หวันออกมาเตือนให้ทุกฝ่ายระวังเกี่ยวกับการดึงเรื่องแรงผลักดันจากต่างประเทศเข้ามาผูกกับประเด็นการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งไม่ได้มีเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
และภายหลังมีการประกาศผลการเลือกตั้งที่ว่านี้ออกมา สื่อ นิคเคอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น รายงานว่า “การเลือกตั้งท้องถิ่นในไต้หวันนั้นเป็นเรื่องของผู้ลงสมัครแต่ละคน เครือข่ายของผู้สนับสนุนและประเด็นในชุมชนเป็นหลัก นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนจากการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ประเด็นความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันและความมั่นคงแห่งชาติ คือ จุดที่มีการหยิบยกมานำเสนออย่างมาก”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา จีนมองว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตนที่พยายามแยกตัวออกไป แต่เสียงสนับสนุนของคนในไต้หวันต่อการรวมชาตินั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ