นโยบายด้านภาษาของทางการจีนไม่ได้รับการตอบรับอย่างราบรื่นตลอดเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเขตดินเเดนของชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะเป็นทิเบต และในเขตปกครองคนเองซินเจียง ที่คนท้องถิ่นใช้ภาษาของตนเองในการสื่อสารอย่างกว้างขวาง
และทางการจีนสนับสนุนให้มีการสอนภาษาท้องถิ่นในโรงเรียนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ทางการจีนพยายามผลักดันให้มีการเรียนการสอนเเบบสองภาษาในทิเบตและกลายเป็นต้นเหตุเกิดการประท้วงต่อต้านหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เเม้ว่าบรรดาผู้ปกครองในทิเบตเองก็ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนภาษาจีนกลาง เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสด้านการงานในอนาคต
ทางการจีนได้ผลักดันให้คนกลุ่มน้อยใช้ภาษาจีนกลางเป็นสื่อกลางในการสื่อสารในประเทศมานานหลายสิบปีเเล้ว จีนมีภาษาชนเผ่าและภาษาคนกลุ่มน้อยหลายพันภาษาและยังมีภาษาพูดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาจีนอีกหลายสิบกว่าภาษา รวมทั้งภาษาทิเบตและภาษาอุยกูร์
ในเอกสารเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมภาษาจีนกลาง มีการวางเป้าหมายที่ต้องทำในเขตปกครองของคนกลุ่มน้อยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ โดยรัฐบาลกลางของจีนได้ระบุว่าจะส่งเสริมการสอนหนังสือในโรงเรียนเป็นภาษาจีนกลาง
ทางการจีนชี้ว่า แผนนี้ส่งเสริมและเผยแพร่ภาษาจีนกลางให้เป็นภาษาสื่อสารและภาษาเขียนภาษาหลักประเทศ และต้องเพิ่มระดับความสามารถของนักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยให้เข้าใจเเละใช้ภาษาจีนกลางทั้งในการพูดเเละการเขียน โดยจะเน้นในพื้นที่ที่มีการใช้ภาษาจีนกลางน้อย
อย่างไรก็ตามทางการจีนไม่ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวคืออะไรบ้าง
นอกจากจะส่งเสริมภาษาจีนกลางให้เป็นภาษาหลักของประเทศเเล้ว ทางการจีนยังสัญญาว่าจะช่วยปกป้องภาษาท้องถิ่นหลายภาษาที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยระบุว่าจะเพิ่มความพยายามในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
สหประชาชาติประมาณว่ามีภาษาท้องถิ่นในจีนมากกว่า 100 ภาษาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากเหลือคนที่พูดภาษาเหล่านี้ไม่กี่คน รวมทั้งภาษาเเมนจู (Manchu) ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระราชาองค์สุดท้ายของประเทศ เนื่องจากจีนหันมาใช้ภาษาจีนกลางแทน
(รายงานโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)