รัฐบาลจีนสั่งกวาดล้างบัญชีส่วนตัวบนโลกออนไลน์ของเหล่าคนดังในประเทศ รวมทั้งเว็บไซต์ซุบซิบดาราบนโซเชียลมีเดีย ที่มีชาวจีนติดตามราว 67-90 ล้านคน หวั่นมีอิทธิพลทางสังคมจีนในอนาคต
ตอนนี้คนดังท่ามกลางแสงไฟในแดนมังกรคงหนาวๆ ร้อนกันแล้ว เมื่อ Beijing Cyber Administration หรือ BCA หน่วยงานกำกับดูแลโลกไซเบอร์ของจีน ลงดาบเหล่าคนดังในสื่อสังคมออนไลน์จีน ด้วยการปิดบัญชีของเหล่าเซเลบหลายคน และสั่งปิดบัญชีออนไลน์ของนิตยสารซุบซิบดารามากถึง 60 ฉบับ ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนยังกำชับให้เครือข่ายที่ดูแลเว็บไซต์เหล่านี้จับตาการเคลื่อนไหวของคนดัง หากโพสต์เนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวทางเพศ การจับจ่ายใช้สอยที่สะท้อนความหรูหราฟุ่มเฟือยเกินตัว รวมทั้งพฤติกรรมที่สะท้อนรสนิยมที่ย่ำแย่ออกไปบนโลกออนไลน์
ที่ผ่านมา เหล่าเซเลบ คือ เครื่องมือในการทำการตลาดที่สำคัญบนโลกอินเตอร์เน็ต บริษัทต่างๆต้องการให้เหล่าคนดังโฆษณาสินค้าของตน
โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยในกรุงปักกิ่ง Analysus เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว ตลาดออนไลน์ที่ขับเคลื่อนโดยเหล่าเซเลบจีน มีมูลค่ามากถึง 5 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปีหน้าจะมีมูลค่าตลาดมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท
เซเลบส่วนใหญ่จะมาจากวงการมายา ดาราบนจอเงินและจอแก้ว รวมทั้งนักกีฬา แต่ในระยะหลังกลับพบว่ามีเซเลบรูปแบบใหม่ที่ไม่ทราบที่มาที่ไปเกิดขึ้นมากมาย แต่เลือกจะใช้ประเด็นอ่อนไหวทางสังคมมาสร้างกระแส เช่น แคมเปญ Leftover Women หรือ สาวโสดไร้คนเหลียวแล ที่ตอกย้ำวัฒนธรรมจีนที่ผู้หญิงต้องรีบมีครอบครัวก่อนจะอายุมากเกินไปและถูกทิ้งเดียวดายไร้คนเหลียวแล
Bill Bishop ผู้บริหารหนังสือข่าว Sinocism China Newsletter บอกว่า รัฐบาลจีนพยายามอย่างมากในการรักษาค่านิยมแบบสังคมนิยม แต่พบว่าเหล่าคนดังที่มีอิทธิพลต่อชาวจีน 10 อันดับต้นๆ ที่มีผู้ติดตามมากถึง 67-90 ล้านคนนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมจีนเพียงหยิบมือเดียว และยากต่อการควบคุม เพราะแม้พวกเขาจะไม่แสดงออกมาตรงๆ ถึงการทำงานของรัฐ แต่อาจสื่อความที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ปัญหาการควบคุมเหล่าเซเลบผ่านเทคโนโลยีก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ เพราะพวกเขามักจะเดินไปข้างหน้า 1 ก้าวก่อนรัฐบาลเสมอ ในเรื่องการสร้างเนื้อหาและความโด่งดังผ่านสื่อออนไลน์
อีกด้านหนึ่ง Mark Tanner กรรมการผู้จัดการ บริษัทการตลาดออนไลน์ China Skinny เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือคนดัง ทุกคนรู้ดีว่าพวกเขาไม่อาจล่วงล้ำไปถึงเรื่องนโยบายรัฐบาล
หน่วยงานกำกับดูแลโลกไซเบอร์ของจีน ระบุว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียของเหล่าเซเลบ ไม่ให้กระทบชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว
และอย่างที่ Christopher Cairns นักวิชาการของ Cornell บอกไว้ว่า คนดัง หรือ เซเลบ มีกระบอกเสียงอันทรงพลัง ที่มีอิทธิพลต่อความคิดผู้คนในสังคมได้มากกว่า ดังนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีน มองว่าเป็นการท้าทายอำนาจของตน