รัฐบาลกรุงปักกิ่งเดินหน้าเข้าหาประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเพื่อหวังเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น ในช่วงที่เกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปอยู่
ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และผู้นำยุโรปมีปัญหาปะทะกันในหลายเรื่อง ตั้งแต่กรณีประเด็นประชาธิปไตยไปถึงสงครามยูเครนและรัสเซีย ที่เวทีการประชุมด้านความมั่นคงมิวนิค (MSC) ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ถือโอกาสนัดประชุมทวิภาคีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายประเทศของยุโรป เช่น กายา กัลลัส หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และมาร์ค รุตเทอ เลขาธิการองค์การนาโต้
ระหว่างการหารือกับกัลลัสในวันเสาร์ รัฐมนตรีจีนกล่าวว่า จีนและอียูไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือผลประโยชน์ทับซ้อนกันเลย และย้ำว่า กรุงปักกิ่ง “สนับสนุนความพยายามทุกอย่างที่จะนำไปสู่สันติภาพและการหนุนยุโรปให้มีบทบาทที่สำคัญ(ในเรื่องเหล่านี้)”
ขณะเดียวกัน ฝ่ายอียูนั้นสงวนท่าทีของตนในการพูดเรื่องนี้พอควร โดยหัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรปกล่าวว่า อียูนั้นพร้อมที่จะ “เดินหน้าพูดคุยและร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ ที่ตกลงกัน เช่น การค้า เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” พร้อมเรียกร้องให้กรุงปักกิ่งหยุดส่งออกสินค้าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และทางการทหารให้กับรัสเซียที่กรุงมอสโกนำไปใช้ในการทำสงครามกับยูเครน
คำกล่าวของ หวัง อี้ นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เอ่ยปากวิจารณ์ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่จะเน้นย้ำเรื่องของภัยคุกคามจากรัสเซียและจีน แวนซ์กล่าวหารัฐบาลยุโรปว่า ทำการปิดกั้นเซ็นเซอร์พรรคการเมืองฝ่ายขวาและประสบความล้มเหลวในการควบคุมผู้อพยพเข้าประเทศ
รองปธน.สหรัฐฯ กล่าวบนเวที MSC ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศยุโรปคือ “ภัยคุกคามจากภายใน การที่ยุโรปถอยห่างออกจากค่านิยมพื้นที่ที่สุดบางอย่างของภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่มีร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา”
ผู้นำยุโรปหลายคนออกมาปฏิเสธที่แวนซ์พูดทันที เช่น บอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ที่กล่าวว่า สิ่งที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดเกี่ยวกับนโยบายของยุโรปนั้นเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความพยายามของจีนที่จะผูกสัมพันธ์กับยุโรปให้แน่นแฟ้นขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานของกรุงปักกิ่งเพื่อหาประโยชน์จากความแตกแยกระหว่างกรุงวอชิงตันและพันธมิตรยุโรป
แมทธิว ดูชาเทล ผู้อำนวยการโครงการศึกษาระหว่างประเทศของ Institut Montaigne ในฝรั่งเศส บอกกับ วีโอเอ ระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ท่าทีของจีนในช่วงนี้คือมุ่งหาประโยชน์จากสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐฯ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปได้สร้างโอกาสให้กับกรุงปักกิ่งในการ “ทำให้นโยบายด้านจีนของพันธมิตรสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกอ่อนแอลง”
และเมื่อพิจารณาคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายที่ตึงขึ้นนี้อาจทำให้ยุโรปลดท่าทีอันแข็งกร้าวต่อจีนลงได้
มาเทจ ซิมาลชิก ผู้อำนวยการของ Central European Institute of Asian Studies บอกกับ วีโอเอ ทางโทรศัพท์ว่า เพราะว่ายุโรปไม่สามารถทำสงครามทางการค้าพร้อมกันสองทางได้ การที่อียูและรัฐสมาชิกอียูจะคงไว้ซึ่งนโยบายที่วิพากษ์วิจารณ์จีนนั้นน่าจะเป็นเรื่องยาก ขณะที่ เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ผลักดันให้อียูดำเนินนโยบายต้านอิทธิพลจีนมาตลอด ออกมากล่าวซ้ำ ๆ ในช่วงที่ผ่านมาว่า ทางกลุ่มนั้นเปิดกว้างที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนเสมอ
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น