ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
นักวิเคราะห์ชี้ ‘มาร์โค รูบิโอ’ เตรียมชูนโยบายสหรัฐฯ ต้านอิทธิพลจีน

นักวิเคราะห์ชี้ ‘มาร์โค รูบิโอ’ เตรียมชูนโยบายสหรัฐฯ ต้านอิทธิพลจีน


รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ ทักทายเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เมื่อเข้ามาทำงานวันแรก ในวันที่ 21 ม.ค. 2568
รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ ทักทายเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เมื่อเข้ามาทำงานวันแรก ในวันที่ 21 ม.ค. 2568

นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ได้วางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกให้เป็นไปในลักษณะต้านจีน ด้วยการยกระดับความเข้มข้นของนโยบายสหรัฐฯ เอง เพื่อหวังส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาคดังกล่าวพร้อม ๆ กับรักษาผลประโยชน์สูงสุดของอเมริกาไปด้วย

ในวันแรกที่ รูบิโอ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มกราคม อดีตสว.สังกัดพรรครีพับลิกัน จากฟลอริดาผู้นี้ได้เปิดเผยเป็นนัยเกี่ยวกับหน้าตาของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารกระทรวงของตน

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ระบุระหว่างการพบกับทีมงานหลังเสร็จสิ้นพิธีปฏิญาณตนว่า “งานของพวกเราที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกก็คือ การทำให้แน่ใจว่า เรามีนโยบายต่างประเทศที่ส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ”

รูบิโอยังกล่าวด้วยว่า “นโยบายโลกที่สำคัญที่สุดก็คือ การส่งเสริมสันติภาพและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง”

ริชาร์ด อาร์มิทาจ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี เมื่อวันที่ 24 มกราคม ว่า รูบิโอน่าจะหันไปปรึกษาบรรดาผู้อำนวยการของกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบแต่ละประเทศในภูมิภาคเหล่านี้และประสานงานกับเพนตากอนรวมทั้งหน่วยงานข่าวกรองทั้งหลายเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิกขึ้นมาใหม่

ส่วนมาร์ค เคนเนดี ผู้อำนวยการ Wahba Institute for Strategic Competition ของศูนย์ Wilson Center ให้ความเห็นกับวีโอเอ เมื่อ 23 มกราคมว่า “นโยบายว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรมต.รูบิโอจะมุ่งเน้นเรื่องการต้านจีน ด้วยการพึ่งความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานและความเป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคงและทางการค้าของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม”

ขณะเดียวกัน โจเซฟ ดิทรานิ ซึ่งเคยเป็นผู้แทนพิเศษในการประชุม 6 ฝ่ายว่าด้วยการลดอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือในช่วงรัฐบาลปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้ความเห็นว่า ในเรื่องของเกาหลีเหนือกับรัสเซียนั้น “รูบิโอจะขอจีน เหมือนที่ทรัมป์เคยทำ ให้ช่วยโน้มน้าวกรุงเปียงยางให้กลับมาเจรจากับสหรัฐฯ อีกครั้ง”

ดิทรานิบอกกับ วีโอเอ เมื่อ 24 มกราคมด้วยว่า ไม่ว่าจะได้ความช่วยเหลือจากจีนหรือไม่ ถ้ารูบิโอประสบความสำเร็จ สหรัฐฯ ก็อาจจะช่วยดึงเกาหลีเหนือให้ออกห่างจากรัสเซียได้

จุดยืนของรูบิโอ

อีวาน รีเวียร์ ซึ่งเคยทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในรัฐบาลบุชผู้ลูก กล่าวว่า รูบิโอน่าจะนำเสนอเรื่องการต่อต้านคัดค้านเผด็จการ คอมมิวนิสต์และการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าไปในการดำเนินงานบริหารกระทรวงฯ

อดีตสว.จากฟลอริดาผู้นี้เติบโตที่นครไมอามี โดยพ่อและแม่นั้นเป็นผู้อพยพจากคิวบา และแสดงจุดยืนความเกลียดชังรัฐบาลคอมมิวนิสต์มาตลอดอาชีพการเมืองของเขา

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประเด็นนี้ที่ผนวกกับสองเสาหลักด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งก็คือ “อเมริกามาก่อน” (America First) และการสร้าง “สันติภาพด้วยการแสดงความแข็งแกร่ง” น่าจะทำให้สหรัฐฯ ดำเนินยุทธศาสตร์โหด ๆ กับประเทศอย่าง เกาหลีเหนือและจีน และต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รูบิโอส่งสัญญาณท่าทีดังว่าออกมาระหว่างการพูดคุยโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ โดยกล่าวย้ำว่า “รัฐบาลทรัมป์จะเดินหน้าความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในแบบที่ส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” และ “พันธกรณีของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตรของเราในภูมิภาค”

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังแสดง “ความกังวลอย่างมากต่อท่าทีข่มขู่ไต้หวันและ(ประเทศอื่น ๆ)ในทะเลจีนใต้ของจีน”

ในส่วนของการดำเนินนโยบายที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งนั้น แกรี มัวร์ อดีตผู้ประสานงานทำเนียบขาวด้านการควบคุมอาวุธและอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เชื่อว่า รูบิโอน่าจะสนับสนุนการดำเนินแผนการทูตแบบส่วนตัวของทรัมป์กับคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ

ก่อนหน้านี้ รูบิโอเคยมีท่าทีสงสัยเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดทรัมป์-คิม ในรัฐบาลสมัยแรกของทรัมป์ แต่ในการขึ้นตอบคำถามคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเพื่อรับรองการเสนอชื่อรับตำแหน่งเจ้ากระทรวงฯ เขากลับกล่าวว่า วิธีทางการทูตแบบส่วนตัวของปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47 คือสิ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการทดสอบยิงขีปนาวุธของกรุงเปียงยางได้

และเมื่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับ โช เท-ยุล รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รูบิโอได้เน้นย้ำประเด็นที่ว่าความเป็นพันธมิตรนั้นคือ รากฐานสำคัญของสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีและทั่วภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

รายงานข่าวระบุว่า รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับ อิวายะ ทาเคชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เรื่องความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือกับรัสเซียระหว่างการประชุมในกรุงวอชิงตันด้วย

ระดมกำลังต้านจีน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รูบิโอได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม และได้เน้นย้ำประเด็นความมั่นคงทางทะเลที่มีเสถียรภาพในทะเลจีนใต้กับทุกคน

เมื่อพูดคุยกับ เอนริเก มานาโล รมว.ต่างประเทศฟิลิปปินส์ รูบิโอย้ำเรื่องของ “พฤติกรรมสั่นคลอนและเป็นอันตรายต่าง ๆ ของจีนในทะเลจีนใต้” และได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “พฤติกรรมก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้” ขณะหารือกับ บุย ทาน ซอน รัฐมนตรีเวียดนามด้วย

เกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) บอกกับ วีโอเอ เมื่อ 23 มกราคม ว่า รัฐบาลทรัมป์ “จะมองไปที่ฟิลิปปินส์และหุ้นส่วนอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นหลัก เพื่อปกป้องเสรีภาพทางทะเลในทะเลจีนใต้”

โพลลิงยังเชื่อว่า รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะหัน “ไปมองเวียดนาม สิงคโปร์และอินโดนีเซียต่อไป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลที่ใช้ได้จริงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

ในเรื่องนี้ อันเรย์กา นาตาเลกาวา นักวิชาการด้านโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ CSIS บอกกับ วีโอเอ เมื่อ 23 มกราคม ว่า รูบิโอ “อาจผลักดันอินโดนีเซียให้แสดงจุดยืนที่แข็งขืนมากขึ้นเมื่อต้องรับมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ของจีนในพื้นที่พิพาททางทะเล โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเรื่องข้อตกลงพัฒนาทางทะเลอินโดนีเซีย-จีนซึ่งมีการลงนามกันในเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 ที่เป็นประเด็นโต้เถียงกันอยู่”

ทั้งนี้ อินโดนีเซียและจีนลงนามในดีลมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งตกลงที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมประมง การสำรวจหาก๊าซและน้ำมัน และด้านอื่น ๆ ของภาคเอกชน

การสร้างสมดุลทางการทูต

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การผลักดันของกรุงวอชิงตันให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคดังกล่าวทำงานสอดคล้องใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้นอาจนำมาซึ่งสถานการณ์ตึงเครียดบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมาดูจะเอียงไปทางจีนมากกว่า ขณะที่ อินโดนีเซียพยายามรักษาสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งจีนและสหรัฐฯ อยู่

โรเบิร์ต แมคมาห์น ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศจาก Ohio State University กล่าวว่า จุดยืนที่แข็งกร้าวของรูบิโอในเรื่องจีนอาจทำให้อินโดนีเซีย “ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจาก(รัฐบาลจาการ์ตา)ไม่ยอมเข้าร่วมขบวนการต่อต้านจีน” และว่า ถ้าสหรัฐฯ กดดันอินโดนีเซียให้ขยับมาทางตน ก็อาจทำให้เกิดภาวะขัดแย้งขึ้นได้

รายงานข่าวเปิดเผยว่า รูบิโอกล่าวกับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตนเชื่อว่า ประเทศอื่น ๆ จะ “แสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเอง” แต่ก็ยังหวังว่า “จะมีหนทางอยู่มากมายที่ทำให้ผลประโยชน์แห่งชาติของเราและประเทศเหล่านั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้”

นอกจากนั้น เส่ง แวนลี ผู้ช่วยคณบดี Techo Sen School of Government and International Relations ที่มหาวิทยาลัยแห่งกัมพูชา (University of Cambodia) กล่าวว่า กรุงวอชิงตันน่าจะกดดันกัมพูชาหนักขึ้นในเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาด้านประชาธิปไตยและการจำกัดกิจกรรมภาคประชาสังคม รวมทั้งเรื่องความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับจีน

อย่างไรก็ดี ราห์มาน ยาคอบ นักวิจัยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Lowy Institute เชื่อว่า นโยบายต่างประเทศภายใต้รูบิโอน่าจะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลในประเด็นต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงในภูมิภาคและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า กรุงวอชิงตันน่าจะคำนึงถึงความเป็นจริงในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ มากกว่าจะหันไปทางใดทางหนึ่งอย่างหนัก

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG