ลิงชิมแปนซีถือเป็นลิงใหญ่ที่มีความหลากหลายเเละซับซ้อนที่สุดรองจากมนุษย์ เเต่ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบัน รวมทั้งจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า พบว่าลิงชิมแปนซีเเละลิงใหญ่ชนิดอื่นๆ ถือเป็นสัตว์เครือญาติที่มีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมมากที่สุดของมนุษย์
ลิงชิมเเปนซีมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ซับซ้อน โดยรู้จักใช้เครื่องมือเเละมีพฤติกรรมทางสังคมขั้นสูง แต่ผลการศึกษาชิ้นใหม่พบว่า มนุษย์กับลิงชิมเเปนซีมีปัญหาด้านการอยู่ร่วมกัน หากมนุษย์เข้าไปใกล้เกินไปกับลิงชิมแปนซีที่อาศัยในป่า ผลการศึกษาพบว่าลิงชิมแปนซีจะสูญเสียวัฒนธรรมของตนไป
แอมม่า สโตกส์ เเห่งสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าในแอฟริกากลาง (Central Africa Program WCS) กล่าวว่า การศึกษาพบว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเเละพฤติกรรมของลิงชิมแปนซีจะลดลงราวร้อยละ 88 ในพื้นที่ป่าที่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์มากที่สุด
สโตกส์เป็นผู้ร่วมร่างรายงานผลการวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ เธอกล่าวว่า มีเหตุผลที่น่าเป็นไปได้หลายอย่างว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เธอกล่าวว่าอาจเป็นไปได้ที่อาจมีลิงชิมแปนซีจำนวนไม่มากที่อาศัยในพื้นที่ป่าที่ใกล้กับที่อาศัยของคน หรืออาจเป็นเพราะว่าเมื่อมีคนจำนวนมากอาศัยอยู่ใกล้เคียง ลิงชิมแปนซีอาจมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือเเละโอกาสใช้งานลดลง
สโตกส์ กล่าวอีกว่า มีผลกระทบจากมนุษย์บางรูปแบบ อาทิ การตัดไม้หรือสภาพป่าที่อาศัยของลิงเสื่อมลง มีผลโดยตรงให้ทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมเเละพฤติกรรมของลิงชิมแปนซีลดลง
สโตกส์ชี้ว่า ลิงชิมแปนซีเป็นสัตว์ที่ปรับตัวง่ายเเละอาจปรับตัวต่อการรุกรานพื้นที่ป่าของคนเราด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นมาทดแทนทั้งหมด
แต่เธอชี้ว่าทางออกที่ดีน่าจะเป็นการคิดให้รอบคอบมากขึ้นว่าทำไมพื้นที่ดินหรือป่าสงวนบางผืนจึงควรได้รับการปกป้อง
สโตกส์ นักวิจัยกล่าวว่า ตนเองคิดว่าคนเราควรคิดค้นคำจำกัดความเกี่ยวกับคำว่า "ป่า" เสียใหม่ หรืออาจจะขยายขอบเขตของคำนี้ให้กว้างมากขึ้น ไม่ควรเป็นแค่การอนุรักษ์ต้นไม้หรือการอนุรักษ์สัตว์ป่าเท่านั้น แต่ควรจะรวมถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพฤติกรรมและวัฒนธรรมของสัตว์ป่าด้วย
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS ชี้ว่า การตัดไม้เป็นเหตุให้พื้นที่ป่าของแอฟริกาลดลงมากกว่าร้อยละ 77 ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ถึง 2013
นอกเหนือการตัดไม้จะทำให้สัตว์ป่า ชุมชนในพื้นที่เเละเศรษฐกิจประสบกับความเสี่ยงเเล้ว ผลการศึกษาชิ้นใหม่ยังย้ำด้วยว่าการลักลอบตัดไม้ในป่ายังคุกคามต่อวัฒนธรรมที่สัตว์ป่าที่มีลักษณะเฉพาะตัวอีกด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)