ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยเชื่อปลาดึกดำบรรพ์ 'ซิลาแคนท์' ยังไม่สาบสูญ



ปลาโบราณชนิดนี้ชื่อปลาซิลาเเคนท์ (Coelacanth) เป็นปลาขนาดใหญ่ที่หากินบนพื้นทะเลลึก ปลาชนิดนี้ยังมีชีวิตอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่น่าจะสูญพันธุ์ไปนานหลายล้านปีเเล้ว

โอลิเวอร์ คริมเม็น แห่งพิพิทภัณฑ์ Natural History ชี้ชวนให้ดูปลาซีลาเเคนท์สองตัวที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในแอลกอฮอล์ทั้งตัว เขากล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้าปี ค.ศ. 1938 ไม่มีใครเชื่อว่านี่จะเป็นไปได้ เพราะเรารู้จักปลาชนิดนี้จากซากฟอสซิลเท่านั้น

ปลาซิลาเเคนท์ยังมีชีวิตอยู่ใต้ท้องทะเลจริงๆ แม้ว่าครั้งหนึ่งบรรดานักบรรพชีวินจะเคยคิดได้หายสาบสูญไปแล้วเมื่อ 350 ล้านปีที่แล้ว

คริมเม็น กล่าวว่า ปลาชนิดนี้เป็นจุดเชื่อมต่อวิวัฒนาการของปลาที่กำลังจะย้ายขึ้นมาเป็นสัตว์บก เขากล่าวว่า ความจริงที่ว่าเราไม่เคยเห็นตัวปลานี้มาก่อน ยกเว้นที่เป็นซากฟอสซิล หมายความว่าปลาโบราณชนิดนี้อาจจะฟื้นคืนชีวิตกลับมาจากการสูญพันธุ์

แต่ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมตัวเริ่มต้นการค้นหาปลาซิลาเเคนท์ที่อาจอาศัยใต้ทะเลลึกในบริเวณหมู่เกาะเซแชลล์สในมหาสมุทรอินเดีย ทีมนักวิจัยเหล่านี้หวังว่าอาจจะค้นพบสิ่งที่น่าแปลกใจอื่นๆ อีกหลายอย่าง นอกเหนือจากปลาโบราณซิลาเเคนท์

อเล็กซ์ โรเจอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด กล่าวว่า เเม้ว่าจะมีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับสิ่งมีขีวิตในทะเลในระดับน้ำตื้น อาทิ การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของปะการัง แต่เเทบไม่มีการศึกษาวิจัยใต้ทะเลลึกในบริเวณรอบหมู่เกาะหมู่เกาะเซแชลล์สมาก่อนเลย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงไม่รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่อาศัยในบริเวณนี้ เเละเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้คือมุ่งค้นหาคำตอบเหล่านี้

ในบริเวณหมู่เกาะนี้มีปะการังใต้ทะเลลึก เเละทีมนักวิจัยต้องการร่างแผนที่โลกใต้ท้องทะเลในจุดนี้ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ว่างเปล่า

โอลิเวอร์ สตีดส์ ผู้อำนวยการแห่งสถาบันวิจัยใต้ทะเลลึก Nekton กล่าวว่า ในการศึกษา ทีมนักวิจัยใช้ยานพาหนะอัตโนมัติที่ควบคุมทางไกล หรือ ROVs (Remotely Operated Vehicles) ร่วมกับเรือดำน้ำขนาดเล็กเเละอุปกรณ์วิจัยอื่นๆ เพื่อศึกษาสร้างความเข้าใจหลายทางถึงการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร

ทีมงานยังได้พัฒนาเทคโนโลยีเเบบใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้กับระบบกล้องถ่ายภาพโดยเฉพาะ เเละนี่จะช่วยให้ทีมนักวิจัยสามารถเก็บภาพสามมิติของระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลลึกที่อาจจะค้นพบ

ทีมนักวิจัยชี้ว่า การเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในท้องทะเลไม่ได้เป็นเรื่องของการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการเท่านั้น เเต่อาจเป็นโครงการที่หมายถึงความเป็นความตายก็ได้

โอลิเวอร์ สตีดส์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีความเร่งด่วนอย่างมาก เพราะมหาสมุทรกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าหลายล้านปีที่ผ่านมา เเละทีมงานจำเป็นต้องเข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และต้องเข้าใจในตอนนี้ มหาสมุทรกำลังเข้าสู่สภาพการเปลี่ยนแปลงมากมายจนอยู่ในขั้นที่อาจทำลายความสามารถของมหาสมุทรในการรองรับสิ่งมีชีวิตบนโลก

โครงการวิจัยใต้ทะเลลึก Nekton นี้ได้เริ่มต้นการเดินทางค้นหาปลาโบราณซิลาเเคนท์นี้เเล้วในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)



XS
SM
MD
LG