มีการศึกษาใหม่ ที่บ่งชี้ว่า มนุษย์เป็นต้นเหตุให้สัตว์ต่างๆ เช่น สิงโต เสือ และหมี ต้องกลายเป็นสัตว์ที่ออกหากินในตอนกลางคืนมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ต่างทราบมานานแล้วว่า กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ก่อกวนธรรมชาติ นอกจากจะทำให้สัตว์ต้องอยู่กันอย่างระแวดระวังแล้ว ยังทำให้พวกมันมีเวลาในการออกหาอาหารกันน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดต้องออกเดินทางไปยังแดนไกล ไม่ก็เคลื่อนย้ายที่กันน้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับมนุษย์
การศึกษาชิ้นล่าสุดที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร “Science” ยังเปิดเผยว่า กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไกล หรือตั้งค่ายพักแรม ล้วนแต่ทำให้สัตว์เหล่านี้หวาดกลัว และออกมาหากินในตอนกลางคืนแทน
Kaitlyn Gaynor นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Berkeley หัวหน้าทีมวิจัยนี้ กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายพยายามปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากมนุษย์ แม้เราจะคิดว่าเราไม่ได้ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้หลังการเดินป่า แต่เพียงแค่การปรากฏตัวของมนุษย์ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในระยะยาวได้
คุณ Gaynor และทีมวิจัย ได้วิเคราะห์การศึกษา 76 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ 62 สายพันธุ์ใน 6 ทวีปทั่วโลก เช่น สิงโตในแทนซาเนีย นากที่บราซิล สุนัขป่าในแคลิฟอร์เนีย หมูป่าในโปแลนด์ และเสือในเนปาล โดยเปรียบเทียบเวลาที่สัตว์เหล่านั้นออกหากินในยามวิกาล ภายใต้กิจกรรมรบกวนจากมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์ การเดินป่า และการเพาะปลูก พบว่า การปรากฏตัวของมนุษย์ทำให้สัตว์ทั้งหลายออกหากินยามค่ำคืนมากขึ้นถึงร้อยละ 20 แม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะไม่ใช่สัตว์ที่ใช้ชีวิตในตอนกลางคืนก็ตาม
Marlee Tucker นักนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัย Frankfurt ในประเทศเยอรมนี กล่าวว่า เป็นที่น่าประหลาดใจ ที่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้สัตว์ทั้งหลายมองมนุษย์เป็นสิ่งคุกคามได้ แม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของมนุษย์เลยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม คุณ Kaitlyn Gaynor กล่าวว่า แม้แต่สัตว์ที่ปรับตัวได้ยากลำบากในความมืดยังได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ แต่เธอมองว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์อาจช่วยให้พวกมันเผชิญหน้ากับมนุษย์น้อยลง ซึ่งช่วยให้ทั้งมนุษย์และสัตว์อยู่ร่วมโลกกันได้