ตอนเป็นเด็ก Jennifer Ka ไม่เข้าใจว่าทำไมบิดาจึงโมโหเสมอ จนทำให้รู้สึกว่าพ่อไม่รักลูกๆ เธอบอกว่ารู้สึกเจ็บปวดที่ตนเองกับพ่อไม่เข้าใจกัน ตนรู้สึกถึงความห่างเหินเเม้พ่อจะอยู่ใกล้ๆ เพราะพ่อจมอยู่กับความทุกข์ของตัวเองตลอดเวลา และไม่เคยเปิดใจกับลูกๆ หรือเล่าความหลังว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อในช่วงที่เขมรเเดงครองอำนาจ
Ka เป็นบุตรของสามีภรรยาผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เข้ามาตั้งหลักเเหล่งในสหรัฐฯ ในช่วงปี คริสต์ศตวรรษ 1980 เธอบอกว่าพ่อแม่รอดจากการเข่นฆ่าของเขมรเเดงที่ยึดประเทศในตอนนั้น แต่พ่อเเม่ลืมเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้นไม่ลง
และเมื่อมาถึงอเมริกา ความทรงจำในอดีตที่โหดร้ายประกอบกับความยากจน ยิ่งทำให้สภาพจิตใจของผู้อพยพชาวกัมพูชาเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิม Ka บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอภาคภาษากัมพูชาว่า ครอบครัวกังวลตลอดเวลาว่ามีรายได้ไม่พอเลี้ยงปากท้อง
คุณ Mary Scully ผู้อำนวยการโครงการ Khmer Health Advocates หน่วยงานไม่หวังผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือเเก่ผู้อพยพชาวกัมพูชาในอเมริกา กล่าวว่า ตนเองพบเห็นปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนผู้อพยพชาวกัมพูชาตั้งเเต่ต้น โดยผู้อพยพมีอาการปวดหัวรุนแรง ฝันร้าย วิตกกังวล และอาการเหล่านี้ไม่หายไปแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไป
เธอกล่าวว่าเด็กๆ ชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา เกิดความสับสนต่อพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีสภาพจิตใจแปรปรวน ไม่สม่ำเสมอ เด็กๆ คิดว่าพ่อเเม่ไม่รักเพราะตัวเองเป็นเด็กไม่ดี ความกังวลต่างๆ ที่เด็กๆ ประสบกลายเป็นความโกรธและอยากหนีไปจากพ่อเเม่
คุณ Scully ทำงานด้านนี้มานานกว่า 35 ปี ทั้งในค่ายผู้อพยพและในรัฐคอนเนคติคัต ตั้งเเต่ต้นปีคริสต์ศตวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา คุณ Scully กับผู้ทำงานด้านนี้อีกหลายคนได้ศึกษาวิจัยปัญหาสุขภาพจิตในผู้อพยพชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ และพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังหลายโรค
เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันทั่วไป คนอเมริกันเชื้อสายกัมพูชาเป็นเบาหวานประเภทที่สองสูงขึ้นสองเท่า เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 7 เท่า และป่วยด้วยอาการซึมเศร้ารุนแรงหลังเหตุการณ์เลวร้ายถึง 15 เท่า
คุณ Scully กล่าวว่าผู้อพยพชาวกัมพูชาไม่ได้รับความช่วยเหลือเพียงพออย่างที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับ ปัญหานี้เลวร้ายลงไปอีก หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ปฏิรูปนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ตัดลดความช่วยเหลือค่าอาหาร ที่พักและความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้อพยพที่ยังไม่ได้สัญชาติอเมริกัน
รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้ของผู้อพยพ ชาวกัมพูชาต้องระทมทุกข์อย่างเงียบๆ พวกเขาไม่มีปากมีเสียงในการเมืองอเมริกันที่จะเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ด้านศาสตราจารย์ Eric Tang แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่เพิ่งตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับผู้อพยพชาวกัมพูชาที่อาศัยในเขตบรองซ์ในมหานครนิวยอร์ค ไปเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับการตั้งหลักเเหล่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ผิดพลาดอย่างมาก
เขาชี้ว่านโยบายนี้เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลสวัสดิการสังคม ที่ไม่ให้ความสนับสนุนที่เพียงพอแก่ผู้อพยพชาวกัมพูชา ในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายจากสถานภาพผู้อพยพเป็นผู้โยกย้ายถิ่นเเละเป็นประชาชนของประเทศ
แทนที่จะช่วยเหลือให้ลุล่วง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้น กลับตัดลดสวัสดิการสังคมและความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ
ศาสตราจารย์ Eric Tang กล่าวว่า ผู้อพยพประสบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่มาก ที่พักอาศัยไม่มีคุณภาพ ผู้อพยพจำนวนมากขาดคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้งานดีๆ รัฐบาลยังไม่มีแผนระยะยาวที่จะช่วยให้ผู้อพยพสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตนได้ ไม่มีแผนอบรมด้านการงาน ไม่มีความช่วยเหลือด้านการเยียวยาสภาพจิตใจ
นอกจากนี้ ลูกๆ ของผู้อพยพจำนวนมากกลายเป็นคนตกงาน และเกี่ยวข้องกับแก๊งค์อาชญากรรม มีจำนวนมากที่ถูกจับกุมในคดีอาชญากรรมและถูกส่งตัวกลับไปกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเขาหลายคนไม่รู้จัก และไม่เคยไปเยือน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)