ภารกิจร่วมของกองทัพเรือกัมพูชาและหน่วยจู่โจมกองเรือพิฆาตที่ 7 ของสหรัฐฯ เพื่อเข้าโจมตีและยึดเรือเป้าหมาย ในการฝึกซ้อมร่วมของกองทัพเรือจากทั้ง 2 ประเทศ ใจกลางอ่าวไทย ด้านจังหวัดพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการฝึกซ้อมโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกันกับกองทัพเรือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อย่อปฏิบัติการในภาษาอังกฤษว่า 'CARAT'(Cooperation Afloat Readiness and Training)
กองเรือพิฆาตที่ 7 เป็นตัวแทนของกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าปฏิบัติการร่วมกับกองทัพเรือกัมพูชาในครั้งนี้ โดยเน้นการฝึกซ้อมด้านการประสานความร่วมมือระหว่างกำลังพล เพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพการจัดการภัยคุกคามต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงการฝึกซ้อมภารกิจการฟื้นฟูและช่วยเหลือหลังเกิดภัยพิบัติด้วย
นาวาเอกพิเศษ H.B. LE ผู้บังคับการกองเรือพิฆาตที่ 7 บอกว่าภารกิจนี้มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของกองเรือที่ 7 ที่จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้
ภารกิจในครั้งนี้มี เรือตรี Joshua Root นายทหารฝ่ายกฏหมายของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครด้านสันติภาพของสหรัฐฯหรือ Peace Corps มาหลายปีและมีทักษะภาษาเขมร มาทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาเพื่อการประสานงานที่ราบรื่นของทั้ง 2 ฝ่าย
เรือตรี Joshua Root บอกว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ นั้นมีการทำงานร่วมกับกองทัพเรือจากหลายประเทศเพื่อการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมทั้งการเรียนรู้ด้านการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อปฏบัติการของกองทัพสหรัฐฯ ที่มีภารกิจภายใต้ความร่วมมือกับนานาประเทศ หรือการปฏิบัติภารกิจร่วมกับองค์การสหประชาชาติ
เรือเอก IN Sokhemra ผู้บังคับการกองเรือลาดตระเวนที่ 6 กองทัพเรือกัมพูชา บอกว่า ในช่วงแรกพวกเขายังไม่เข้าใจทหารอเมริกันมากนัก แต่เมื่อได้ปฏิบัติการร่วมกันจึงเริ่มเข้าใจมากขึ้นและทำให้การสื่อสารถึงกันทำได้ง่ายมากขึ้น
ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ได้เห็นมิติใหม่ของการปฏิบัติการร่วมกันระหว่าง เรือลาดตระเวน ชั้นสเตนกา (Stenka-Class) อายุหลายสิบปีที่ผลิตในยุคสหภาพโซเวียต สังกัดกองทัพเรือกัมพูชา และเรือพิฆาตชั้นลิทเทอร์รอลท (Littoral class) USS Fort Worth ซึ่งเป็น 1 ในเรือที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมีภารกิจในเป้าหมายเดียวกันที่จะร่วมยกระดับความร่วมมือและเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคได้มากขึ้น