ราคายางพาราที่ไม่น่าดึงดูดใจทำให้เจ้าของสวนยางในกัมพูชาเปลี่ยนพื้นที่เกษตรของตนเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอม เพื่อการส่งออกไปยังจีนแทน
นักธุรกิจรายใหญ่ เฮง หลง มีพื้นที่สัมปทานเพื่อการปลูกยางพารา กว่า 6,000 ไร่ ในจังหวัดกัมปงจาม และนำที่ดินมาปลูกกล้วยหอม
เขากล่าวว่า การปลูกยางทำได้อย่างมากก็เพียงเท่าทุน ขณะที่กล้วยหอมเป็นสินค้าที่ได้กำไรมากกว่า ดังนั้นเขาจึงร่วมลงทุนในโครงการมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์เพื่อทำกิจการสวนกล้วยขนาดใหญ่
โฆษกกระทรวงเกษตรของกัมพูชา พล โสพา กล่าวว่าผู้ถือสัมปทานสามารถเปลี่ยนจากการปลูกยางเป็นพืชชนิดอื่นได้ เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดได้อย่างเหมาะสม
เเม้ว่าเจ้าของกิจการสัมปทานปลูกยางพารางจำนวนมากขึ้นเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น โฆษกฯ พล โสพา กล่าวว่าอันที่จริงการปลูกยาพาราเป็นธุรกิจที่มั่นคง
เฉิน จี้ชาง นักธุรกิจจีนอีกรายหนึ่ง กล่าวว่ากล้วยหอมเป็นสินค้าที่จีนต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภคของชาวจีน
นั่นเป็นสาเหตุให้นายทุนจีนเข้ามาหาพื้นที่ปลูกกล้วยหอมในต่างประเทศและส่งออกกลับไปยังประเทศของตน
ธุรกิจกล้วยหอมที่กำลังคึกคักในเขมร น่าจะได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนและกัมพูชาที่น่าจะมีการลงนามในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้ โดยจะลดภาษีนำเข้าเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์สำหรับร้อยละ 95 ของสินค้าที่ได้รับอนุมัติ 340 รายการ ซึ่งประกอบด้วยกล้วยหอม ข้าว ยางพาราและ ยาสูบเป็นต้น
ความคืบหน้าทางการค้ากับจีนเกิดขึ้นขณะที่กัมพูชาจะเสียสิทธิพิเศษทางการค้ากับสหภาพยุโรป ที่ผูกโยงกับสถานการณ์สิทธิมนุษยนชนในกัมพูชาที่ย่ำแย่ลง
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าไปยังยุโรปที่จะได้รับผลกระทบ มีมูลค่ามากกว่ารายได้ใหม่จากการค้าขายกับจีน
เมื่อปีที่แล้วกัมพูชาและจีนซื้อขายสินค้ากันมูลค่ารวม 8,000 ล้านดอลลาร์ กัมพูชาขาดดุลเพราะมีรายได้จากการส่งออกไปจีนเพียงประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนมากมาจากการส่งออกข้าว
ในกัมพูชา มีโรงงานรับกล้วยหอมจากพื้นที่ปลูกรวม 50,000 ไร่มาบรรจุหีบห่อทั้งหมด 21 แห่ง
แม้ทางการกัมพูชามิได้มีข้อมูลการส่งออกกล้วยหอมรายประเทศ แต่ก็ได้ระบุว่า ในช่วงเจ็ดเดือนเเรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกกล้วยหอมรวม 160,000 ตันและจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา นายฮอร์ นัมฮง ซึ่งขณะนี้เป็นประธานร่วมของคณะกรรมการความร่วมมือกัมพูชาและจีน กล่าวว่าจีนจะสนับสนุนการเร่งส่งออกสินค้าเกษตรของเขมร เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากธุรกิจท่องเที่ยวเเละเสื้อผ้า ที่น่าจะใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน นักธุรกิจจีน เฉิน จี้ชาง ที่มีสัมปทานที่ดินเขมรนับหมื่นไร่อยู่ในมือ ต้องการเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนและกัมพูชา และหวังว่าสวนเกษตรของเขาจะสามารถจ้างแรงงานได้อย่างน้อย 4,000 อัตราในอนาคต
เขากล่าวว่าที่ เขาทำธุรกิจในกัมพูชาก็เพราะเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเขมรกับจีน ซึ่งย้อนกลับไปสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเป็นกษัตริย์ จนมาถึงปัจจุบันที่ความเป็นมิตรยิ่งมีมากขึ้นภายใต้โครงการหนึ่งถนน - หนึ่งวงแหวน หรือ One Belt One Road ของจีน