หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตยามเช้าก่อนเริ่มทำงาน บางคนดื่มกาแฟมากกว่าหนึ่งแก้วต่อวัน นักวิจัยจำนวนมากพยายามอธิบายว่าเหตุใดสมองของคนเราจึงได้แรงกระตุ้นจากคาเฟอีน
Dr. Nora Volkow ผู้อำนวยการสถาบัน National Institute of Drug Abuse ใช้เวลาหลายปีศึกษาว่าสมองได้รับผลกระทบอย่างไรจากสารชนิดต่างๆ ทั้งที่เสพติด และสารไม่เสพติด เช่นคาเฟอีน
Dr. Volkow กล่าวว่าคาเฟอีนทำให้คนรู้สึกดีขึ้นเมื่ออดนอน และทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังได้ทดลองให้อาสาสมัครผู้ร่วมวิจัยทานคาเฟอีนที่เป็นสารอัดเม็ด ที่มีความเข้มข้นเทียบเท่าการดื่มกาแฟเข้มๆ สองถึงสามแก้ว จากนั้นผู้เชี่ยวชาญศึกษาการเปลี่ยนแปลงในสมองตามภาพจากเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สแกนสมอง
ผลการศึกษาพบว่า เช่นเดียวกับสารเสพติดอย่างโคเคนและเฮโรอีน คาเฟอีนกระตุ้นการทำงานของสารเคมีที่ชื่อ โดพามีน (dopamine) ในสมอง แต่ที่แตกต่างจากยาเสพติดคือตรงที่คาเฟอีนไม่ก่อให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่มีปัญหาสืบเนื่องมาจากอาการติดยาเสพติด
Dr. Volkow กล่าวว่าหากมองถึงพฤติกรรมอยากดื่มกาแฟเทียบกับการติดยาแล้ว คาเฟอีนไม่ถือเป็นสารเสพติด นักวิทยาศาสตร์อธิบายด้วยว่า การกระตุ้นสารโดพามีนในสมองจากการดื่มกาแฟไม่ได้มีผลรุนแรงอย่างสารเสพติดอื่นๆ
(รายงานโดย Maia Pujara / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)