นายกรัฐมนตรีเธเรซ่า เมย์ของอังกฤษลงนามในเอกสารที่นำอังกฤษเข้ากระบวนการออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit อย่างเป็นทางการ ตามผลการลงประชามติของประชาชนเมื่อปีที่แล้ว
การลงนามออกจากสหภาพยุโรป (EU) ครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มก้าวแรกในการเจรจาเงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับกลุ่มอียู โดยจะต้องเจรจาให้เสร็จภายในสองปี
นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน Sadiq Khan กล่าวว่า "แม้ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ลงมติให้ประเทศของตนออกจากสหภาพยุโรป แต่ความเป็นเพื่อนและพันธมิตรระหว่างอังกฤษและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ยังคงมีอยู่เช่นเดิม"
มีการวิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจจาก Brexit บ่อยครั้ง หลังจากชาวอังกฤษลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ผลที่แท้จริงคงต้องค่อยๆ ดูต่อไป
การจัดอันดับล่าสุดในสัปดาห์นี้สำหรับเมืองต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นเมืองแห่งการทำงานด้านการเงิน ชี้ว่ากรุงลอนดอนยังคงอยู่อันดับหนึ่ง
Mark Yeandle ผู้จัดทำผลสำรวจ Global Financial Centres Index กล่าวว่า "แม้อังกฤษจะยังคงติดอันดับหนึ่ง แต่คะแนนดิบที่ได้น้อยว่าการจัดอันดับครั้งก่อน"
เขาบอกว่าในความเห็นส่วนตัว ไม่น่าจะมีการอพยพของธนาคารระดับโลก อย่างเช่น บริษัทการเงินแนวหน้าของอเมริกา ออกจากกรุงลอนดอน แม้ว่าจะมีผู้ที่ทำงานในวงการการเงินที่ย้ายไปทำงานที่เมืองอื่นในยุโรปบ้างก็ตาม
สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายต่อประชาชน อาจารย์ Jo Murkens จาก London School of Economics บอกว่า "การเจรจาด้านกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆ ในอีกสองปีจากนี้ เป็นงานใหญ่ที่มีรายละเอียดมากมาย"
เขากล่าวว่า กฎหมายของสหภาพยุโรปมีผลกว้างไกล ตั้งแต่ในระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ ไปจนถึงเรื่องปากท้องของประชาชน
ด้านผู้ที่ไม่สนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรป เช่นกลุ่ม Bristol Pound และ Roll of the Soul เห็นว่าอังกฤษควรอยู่ในระบบการค้าเสรีกับยุโรป
Ciaran Mundy จากกลุ่ม Bristol Pound บอกว่า "กลุ่มของตนต้องการให้อังกฤษยังคงเป็นแหล่งน่าลงทุนและจ้างงาน ขณะเดียวกันก็พยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้วัฒนธรรมท้องถิ่นคงอยู่ต่อไป"
ขณะที่ Rob Wall ของสมาคม Roll of the Soul บอกว่า "เท่าที่เห็นผลทางเศรษฐกิจ การออกจากอียูไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด"
เขาบอกว่า เรายังไม่เห็นว่าเกิดหายนะทางเศรษฐกิจอย่างที่กังวลกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าอังกฤษเพิ่งเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรป ดังนั้นยังอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปไปในทางใดทางหนึ่ง
(รายงานโดย Henry Ridgwell and Luis Ramirez / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)