นักวิจัยชาวบราซิลพบโมเลกุลในพิษงูที่อาจสามารถต่อสู้กับโควิด-19 ได้ การค้นพบนี้อาจเป็นก้าวแรกสู่การใช้ยาเพื่อต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้
นักวิทยาศาสตร์พบว่าโมเลกุลที่ผลิตขึ้นโดยงูพิษพันธุ์จาราราคัสสุ ช่วยไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในเซลล์ลิงได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์
Rafael Guido ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย University of Sao Paulo ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยนี้ กล่าวว่า โมเลกุลในพิษงูสามารถยับยั้งโปรตีนที่มีความสำคัญมากจากเชื้อไวรัสได้
โมเลกุลนี้เรียกว่าเปปไทด์ หรือกลุ่มของกรดอะมิโน สามารถเชื่อมต่อกับเอนไซม์ของเชื้อโคโรนาไวรัสที่เรียกว่า PLPro โดยที่ไม่ทำอันตรายต่อเซลล์อื่น ทั้งนี้ PLPro เป็นส่วนสำคัญของการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัส
นักวิทยาศาสตร์ทราบอยู่แล้วว่าเปปไทด์สามารถต่อสู้กับแบคทีเรียได้ ศาสตราจารย์ Guido กล่าวว่า เปปไทด์สามารถผลิตขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการทดลอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจับงูจาราราคัสสุตัวเป็น ๆ มาสกัดพิษ
Giuseppe Puorto นักสัตววิทยาจากสถาบัน Butantan Institute ในเซาเปาโล กล่าวว่า ต้องมีการเฝ้าระวังในการที่ผู้คนจะออกไปล่างูจาราราคัสสุทั่วบราซิลเพราะคิดว่าตนจะสามารถกอบกู้โลกได้ เพราะไม่ใช่แค่พิษงูอย่างเดียวเท่านั้นที่จะสามารถรักษาโคโรนาไวรัสได้
งูจาราราคัสสุเป็นงูที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในบราซิล มีความยาวได้ถึง 2 เมตร พวกมันอาศัยอยู่ในป่าแอตแลนติกของบราซิล และยังพบได้ในโบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา อีกด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยจะทดสอบปริมาณโมเลกุลที่แตกต่างกันและดูว่าสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้หรือไม่ พวกเขาหวังว่าจะสามารถทดสอบโมเลกุลดังกล่าวในเซลล์ของมนุษย์ได้ในวันหนึ่ง แต่ในขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะเริ่มการทดลอง
การศึกษานี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Molecules ฉบับเดือนนี้
(ที่มา: Reuters)