สหรัฐฯ ประกาศส่งทหารอีก 2,000 คนไปยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่จะไปประจำการในโปแลนด์ รวมทั้งจะเคลื่อนย้ายทหารจากเยอรมนีไปโรมาเนียเพื่อเพิ่มศักยภาพทางทหารของประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ในฝั่งตะวันออกของยุโรป ท่ามกลางความตึงเครียดบริเวณพรมแดนยูเครนติดกับรัสเซีย
โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี กล่าวว่า ทหารที่ส่งไปสมทบในยุโรปนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองพลร่มที่ 82 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ร่วมรบในกรณีที่รัสเซียบุกรุกยูเครน แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ จะยืนหยัดเคียงข้างองค์การนาโต้เพื่อปกป้องพันธมิตรของสหรัฐฯ
นายเคอร์บี กล่าวว่า ทหารชุดใหม่ที่ส่งไปสบทบในยุโรปนี้จะประจำการแบบชั่วคราว และสหรัฐฯ สามารถส่งทหารไปเพิ่มอีกได้หากจำเป็น โดยกองกำลัง 2,000 คนนี้จะไม่รวมกับทหาร 8,500 คนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคำสั่งให้เตรียมพร้อมไปประจำการในยุโรปตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจที่จะบุกรุกยูเครน แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าปธน.ปูติน จะยอมลดระดับความตึงเครียดในบริเวณดังกล่าวเช่นกัน
นายเคอร์บีระบุว่า รัสเซียยังคงส่งกำลังทหารเข้าไปในเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย รวมทั้งบริเวณพรมแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมยืนยันว่า สหรัฐฯ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของรัสเซีย
เมื่อวันอังคาร นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน เดินทางเยือนกรุงเคียฟของยูเครน เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี เกี่ยวกับความตึงเครียดทางภาคตะวันออก และกล่าวว่า การที่รัสเซียเคลื่อนกำลังทหารมากกว่า 100,000 คนบริเวณพรมแดนติดกับยูเครนนั้นอาจจะเป็นการคุกคามจากอริศัตรูครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับยูเครนในช่วงชีวิตนี้
นายกฯ จอห์นสัน ยืนยันสนับสนุนสิทธิของยูเครนในการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศของตนเอง และว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ชาติตะวันตกจะนำมาใช้กับรัสเซียในกรณีที่รัสเซียบุกรุกยูเครนนั้น "มิได้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซีย" แต่เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนมากกว่า พร้อมขอให้รัสเซียเลือกใช้แนวทางทางการทูตในการจัดการปัญหานี้
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีปูติน กล่าวว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรองค์การนาโต้ ได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องสำคัญด้านความมั่นคงของรัสเซีย คือการปฏิเสธการเป็นสมาชิกของยูเครนในองค์การนาโต้ และการถอนอาวุธออกจากบริเวณที่ใกล้กับพรมแดนรัสเซีย
ปธน.ปูติน ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีความตึงเครียดดังกล่าวครั้งแรกในรอบนานกว่าหนึ่งเดือน โดยระบุว่ารัฐบาลรัสเซียยังคงจับตาท่าทีของสหรัฐฯ และองค์การนาโต้ ที่มีต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียได้ส่งเอกสารถึงสหรัฐฯ ระบุถึงสิ่งที่รัสเซียต้องการในความพยายามลดความตึงเครียดบริเวณพรมแดนภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งรวมถึงการระงับไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโต้ และขอให้นาโต้ถอนกำลังทหารและอาวุธออกจากประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวของรัสเซีย พร้อมขอให้รัสเซียถอนกำลังทหารมากกว่า 100,000 คนออกจากพรมแดนติดกับยูเครนด้วย แม้ทางรัสเซียยืนยันว่าไม่มีความตั้งใจที่จะบุกรุกยูเครนก็ตาม