รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนรัสเซีย ไม่ให้ทำการใดๆ ที่อาจเป็นการยกระดับการรุกรานยูเครน พร้อมย้ำว่า การกระทำดังกล่าวจะนำมา “ซึ่งผลกระทบร้ายแรงอื่นๆ” ต่อไป
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งคำเตือนดังกล่าวถึงรัสเซียในวันอังคาร ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อเคียงคู่กับ เอ็ดการ์ส รินเควิคส์ รัฐมนตรีต่างประเทศลัตเวีย ระหว่างการเยือนกรุงริกา อย่างเป็นทางการ โดย บลิงเคน ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ นั้น “มีความกังวลอย่างมาก” ต่อการที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนตัวอยู่ตามแนวพรมแดนติดกับยูเครน
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้ร่วมประชุมกับตัวแทนสมาชิกกลุ่มพันธมิตรนาโต้ เกี่ยวกับการสั่งสมกำลังทหารของรัสเซีย โดย บลิงเคน เปิดเผยว่า แม้หลังการประชุมรัฐมนตรีนาโต้ที่เมืองหลวงของลัตเวียเสร็จสิ้นลง ตนยังมีเรื่องที่ต้องพูดมากกมายเกี่ยวกับประเด็นความกังวลนี้
ก่อนการประชุมรัฐมนตรีนี้ เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ ได้ติดต่อไปยังรัสเซีย เพื่อเจรจาลงความตึงเครียดในภูมิภาค พร้อมระบุว่า การสั่งสมกำลังทหารนั้น “ไม่มีเหตุผลและไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุผล” แม้แต่น้อย
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาเตือนผู้ที่วิจารณ์รัสเซียในวันอังคารว่า กองทัพของตนอาจจะถูกบีบให้ต้องตอบโต้การขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกเข้าไปในโครงสร้างกองทัพยูเครน หาก นาโต้ ทำการ “ข้ามเส้น” ขึ้นมา โดยย้ำด้วยว่า กองทัพรัสเซียเพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงจากทะเล ซึ่งจะพร้อมใช้งานจริงตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป
การประชุมรัฐมนตรีนาโต้ ที่กรุงริกา เกิดขึ้นหลัง สมาชิกกลุ่มพันธมิตรนี้ อันได้แก่ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ ประสบปัญหาวิกฤตชายแดนที่ติดกับเบลารุสอยู่
สหภาพยุโรปกล่าวหา อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส ว่า ทำการล่อลวงผู้อพยพนับพัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ให้เดินทางมายังเบลารุส และให้พยายามข้ามพรมแดนมายังลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของอียู ซึ่งเป็นแผนตอบโต้การดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของรัฐบาลผู้นำเบลารุสนั่นเอง
ทั้งนี้ รมต.บลิงเคน กล่าวในวันอังคารด้วยว่า สหรัฐฯ และอียู กำลังพิจารณามาตรการลงโทษเพิ่มเติมสำหรับเบลารุส ต่อสิ่งที่ตนเรียกว่าเป็น “การโจมตีอย่างไม่ลดละต่อระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และบรรทัพฐานสากล”
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังตอบคำถามของ วีโอเอ ด้วยว่า ตนเองและ รมต.รินเควิคส์ แห่งลัตเวีย พุ่งความสนใจไปยัง “การดำเนินการต่างๆ ที่เบลารุสลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ประชาชนของตน หรือจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย รวมทั้ง การใช้ประเด็นการอพยพเป็นดั่งอาวุธ เพื่อสร้างความร้าวฉานและสั่นคลอนเสถียรภาพของยุโรป”
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในลัตเวียแล้ว รมต.บลิงเคน จะเดินทางต่อไปสวีเดน เพื่อร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation) และร่วมหารือในระดับทวิภาคีกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสวีเดนต่อไป
(ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าว รอยเตอร์)