ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'


กระสวยอวกาศสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ของบริษัทโบอิ้ง นำนักบินอวกาศ บุตช์ วิลมอร์ และ ซูนี วิลเลียมส์ เดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน
กระสวยอวกาศสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ของบริษัทโบอิ้ง นำนักบินอวกาศ บุตช์ วิลมอร์ และ ซูนี วิลเลียมส์ เดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน

การตัดสินใจขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) ที่ให้กระสวยอวกาศสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เดินทางกลับโลกโดยไม่นำนักบินอวกาศสองคนกลับมาด้วย กำลังทำให้เกิดคำถามต่อนาคตของโครงการอวกาศของบริษัทโบอิ้ง (Boeing)

สตาร์ไลเนอร์นำนักบินอวกาศสองคน คือ บุตช์ วิลมอร์ และ ซูนี วิลเลียมส์ เดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศในวงโคจรรอบโลก เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยทั้งสองคนมีกำหนดอยู่ที่สถานีดังกล่าวเพียง 8 วัน แต่เนื่องจากปัญหาของสตาร์ไลเนอร์ ทำให้ทั้งคู่ต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็น 8 เดือน

ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบขั้นสุดท้ายก่อนที่นาซ่าจะตัดสินใจว่าจะรับรองให้ยานสตาร์ไลเนอร์เป็นเที่ยวบินขนส่งสัมภาระและนักบินไปยังสถานีอวกาศหรือไม่ แต่ระบบขับเคลื่อนของสตาร์ไลเนอร์เกิดปัญหาขัดข้อง ซึ่งนาซ่าเชื่อว่าไม่ปลอดภัยต่อการนำนักบินเดินทางกลับโลกตามแผนเดิม

โดยทั้งวิลมอร์และวิลเลียมส์จะกลับมาพร้อมกับแคปซูลอวกาศของบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) ของอิลอน มัสก์ ที่จะเดินทางไปรับในช่วงต้นปีหน้าแทน

แฟ้มภาพ - บุตช์ วิลมอร์ และ ซูนี วิลเลียมส์ ถ่ายภาพกับสื่อมวลชนก่อนเดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2024
แฟ้มภาพ - บุตช์ วิลมอร์ และ ซูนี วิลเลียมส์ ถ่ายภาพกับสื่อมวลชนก่อนเดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2024

หลายปีที่ผ่านมา สตาร์ไลเนอร์ประสบปัญหามากมาย ทั้งความล่าช้า ปัญหาทางเทคนิค และการขาดแคลนชิ้นส่วนเพราะปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้กับบริษัทโบอิ้ง อ้างอิงจากข้อมูลการวิเคราะห์ของรอยเตอร์

เวลานี้ ซีอีโอคนใหม่ของโบอิ้ง เคลลี ออร์ทเบิร์ก ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนนี้ จะต้องตัดสินใจว่าจะทุ่มเงินลงไปกับโครงการสตาร์ไลเนอร์ต่อ แม้อาจจะไม่มีผลกำไร หรือจะยอมทิ้งธุรกิจกระสวยอวกาศนี้เสีย แล้วหันไปทุ่มเทกับธุรกิจหลัก คือการผลิตเครื่องบิน ซึ่งก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องความปลอดภัย หลังจากเหตุการณ์ประตูเครื่องบินรุ่น 737 MAX หลุดกลางอากาศเมื่อต้นปีนี้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในที่สุดแล้ว โบอิ้งอาจต้องเดินหน้าโครงการสตาร์ไลเนอร์นี้ต่อไป เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของโบอิ้งที่เคยเผชิญกับปัญหาหนักกว่านี้มาแล้วหลายครั้งในโครงการอื่น ๆ

และที่สำคัญ โบอิ้งตั้งเป้าว่า ในอนาคต กระสวยสตาร์ไลเนอร์อาจกลายเป็นพาหนะหลักแทนยานอวกาศของนาซ่า ในการขนส่งมนุษย์ไปยังสถานีอวกาศเอกชนที่จะมาแทนสถานีอวกาศระหว่างประเทศหลังจากปี 2030

ปัญหาและความคาดหวังของนาซ่า

ที่ผ่านมา นาซ่าตั้งความหวังว่า สตาร์ไลเนอร์จะกลายเป็นเที่ยวบินอวกาศสำรองของบริษัทสเปซเอกซ์ ในภารกิจเดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ หลังจากที่โบอิ้งชนะการประมูลสัญญามูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2014

แต่ผ่านไป 10 ปี สตาร์ไลเนอร์เพิ่งสามารถนำนักบินไปยังสถานีอวกาศได้เพียงครั้งเดียวและยังประสบปัญหาในการนำนักบินกลับมายังโลก เทียบกับยานครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของสเปซเอกซ์ ที่เดินทางไป-กลับสถานีอวกาศมาแล้วถึง 10 รอบ หลังทำสัญญามูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์กับนาซ่าเมื่อปี 2020

หลายปีมานี้ โบอิ้งสูญเสียบุคลากรจำนวนมากในโครงการด้านอวกาศให้แก่บริษัทสเปซเอกซ์ และบลู ออริจิน (Blue Origin) ของเจฟฟ์ เบโซส ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานวึ่งส่งผลให้การผลิตเป็นไปอย่างล่าช้า

นอกจากสตาร์ไลเนอร์แล้ว โครงการจรวดขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Space Launch System (SLS) rocket ก็สร้างปัญหาปวดหัวให้กับโบอิ้งเช่นกัน เมื่อผู้ตรวจสอบขององค์การนาซ่าจัดทำรายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพ บุคลากรขาดประสบการณ์และการฝึกฝนที่จำเป็น ซึ่งทางโบอิ้งออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG