องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ระวังการระบาดเชื้อไวรัส Zika ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ
นาย Roderico Ofrin ผู้อำนวยการสภาวะฉุกเฉินประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ WHO กล่าวว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องใช้ระบบการเฝ้าดูและการทำรายงานอย่างได้ผลมาติดตามดูการแพร่ระบาดของโรคนี้ โดยให้เน้นย้ำการควบคุมโรค การเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามดูเชื้อไวรัส Zika และการเกิดที่แสดงผลกระทบของเชื้อโรคนี้ ขยายผลในห้องปฏฺบัติการทดลอง การสื่อสารติดต่อระบุความเสี่ยง และชุมชนสัมพันธ์
วารสาร The Lancet Infectious Diseases ระบุว่า อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย และอินโดนีเซีย เป็นห้าประเทศในเอเชียที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้อย่างสูง รวมทั้งประเทศในแถบตอนใต้ของทะเลทราย Sahara ในแอฟริกา
วารสารการแพทย์ของอังกฤษฉบับนี้เตือนว่า ผู้คนอย่างน้อย 2.6 พันล้านคน หรือมากกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลกที่อยู่ในแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้
แต่ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่สุด คือสตรีมีครรภ์ ดังที่ได้เห็นกันแล้วว่า เชื้อไวรัส Zika สายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศบราซิล ทำให้เด็กเกิดใหม่เป็นโรคศีรษะเล็กผิดปกติ หรือที่เรียกกันว่า Microcephaly
เชื้อโรคนี้ยังแพร่ได้ในการร่วมเพศ การถ่ายเลือด และจากแม่สู่ลูก อาการที่แสดงออกให้เห็นคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นอัมพาตได้ สืบเนื่องมาจากการที่แซลล์ประสาทถูกทำร้าย ซึ่งในกรณีนี้เรียกชื่อโรคว่า Guillain-Barre Syndrome
เฉพาะในสิงคโปร์ มีผู้ป่วยเพราะติดเชื้อไวรัส Zika แล้ว 240 ราย ในขณะที่มาเลเซียและประเทศไทยรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วด้วย
แต่นักวิทยาศาสตร์ในเอเชียยังกล่าวแสดงความสงสัยเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อ Zika เพราะมีไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่นานแล้วในเอเชีย โดยอาการที่แสดงออกจะเป็นไข้อ่อนๆ ผื่นคันตามตัวและปวดข้อ ซึ่งแพทย์บอกว่าจะหายไปหลังการบำบัดรักษาหนึ่งสัปดาห์
นักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ด้วยว่า ความสนใจในเชื้อไวรัส Zika ในเอเชีย มีไม่มากเท่ากับโรคที่ร้ายแรงกว่า เช่น ไข้เลือดออก และไข้จับสั่นหรือมาเลเรีย เฉพาะปีนี้ประเทศไทยรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกมากกว่า 35,800 รายแล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ กล่าวว่า เชื้อ Zika สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไม่ได้ไปจากประเทศบราซิล
ศาสตราจารย์ประเสริฐ เอื้อวรากุล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลของมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กุญแจสำคัญคือการระบุสายพันธุ์ของเชื้อ Zika และการคาดการณ์ว่าการระบาดในเอเชียจะรุนแรงเหมือนในอเมริกาใต้หรือไม่
ด้านนายแพทย์วรวิทย์ สุวรรณวนิชกิจ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins และคนอื่นๆ ที่ทำงานกับองค์กรการกุศลช่วยผู้ลี้ภัยตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่า กล่าวว่า ถ้ามีการติดเชื้อ Zika มากขึ้น ก็มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดโรคระบาดขึ้นที่นั่นได้ และที่น่าวิตกกังวลมากคือโรคศีรษะเล็กผิดปกติ
นายแพทย์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า ทางการเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปไม่ควรนิ่งนอนใจ และให้ความเห็นต่อไปด้วยว่า ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคนี้ตามเขตนาครมีสูง เพราะยุงลายที่เป็นพาหะปรับตัวเข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี