สำนักงานด้านยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่าผลผลิตฝิ่นของพม่ายังคงอยู่ในระดับคงที่ในการสำรวจครั้งล่าสุด ขณะที่นางอองซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่เพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว กำลังพิจารณานโยบายที่อาจนำมาใช้เพื่อลดการปลูกฝิ่น แต่ดูเหมือนจะต้องเผชิญปัญหาท้าทายหลายประการ
ผลสำรวจล่าสุดสำนักงานด้านยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ (UNODC) ชี้ว่าปัญหาความยากจนและความขัดแย้งภายในประเทศ คือเหตุผลที่หลักที่การปลูกฝิ่นในพม่าและลาวยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นรองเพียงแค่อัฟกานิสถานเท่านั้น
UNODC ระบุว่าแม้ผลผลิตฝิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอยู่ในระดับคงที่ในช่วงปีหลังๆ แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับผลผลิตเมื่อปี 9 ปีที่แล้วกว่า 3 เท่าตัว โดย 90% ของการปลูกฝิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในพม่า โดยเฉพาะรัฐฉานทางเหนือของพม่าซึ่งมีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น 14% ขณะที่ยังคงมีการต่อสู้ระหว่างกองกำลังรัฐฉานและกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกองกำลังรัฐฉานปฏิเสธที่จะลงนามกับรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในสนธิสัญญาหยุดยิง
คุณ Jeremy Douglas ผู้แทนของ UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าเหตุผลที่หลายพื้นที่ในพม่ายังคงมีการปลูกฝิ่นอย่างกว้างขวาง คงไม่พ้นปัญหาเรื่องปากท้อง ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าฝิ่นคือแหล่งรายได้สำคัญของครอบครัวยากจนหลายครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีแหล่งรายได้ทางอื่นเพื่อจุนเจือสมาชิกในครอบครัว
ในกรณีของลาว รายงานของ UNODC พบว่าพื้นที่ปลูกฝิ่นส่วนใหญ่อยู่ในแขวงพงสาลี โดยปัจจุบันผลผลิตฝิ่นจากพม่าและลาวรวมกัน มีสัดส่วนประมาณ 25% ของผลผลิตฝิ่นทั่วโลก
คุณ Jeremy Douglas ชี้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของพม่าที่จะนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี กำลังมองถึงแนวทางแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นและการลักลอบขนเฮโรอีน เมื่อเดือน ก.ย นางซูจีเดินทางไปยังรัฐฉานและปราศรัยที่นั่นว่า นโยบายปราบปรามยาเสพติดจะเป็นภารกิจอันดับแรก หากพรรค NLD ได้จัดตั้งรัฐบาล
ถึงกระนั้นอุปสรรคสำคัญยังมีอยู่ เนื่องจากหน่วยงานดูแลปัญหายาเสพติดในพม่านั้น ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า
คุณ Jeremy Douglas ผู้แทนของ UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่ารัฐบาลพม่าชุดใหม่และนางอองซาน ซูจี จะต้องขบคิดว่าจะทำอย่างไรกับการปฏิรูปหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการจัดทำนโยบายด้านยาเสพติดของพม่า
ปัจจุบันเชื่อว่าฝิ่นและเฮโรอีนจากพม่ามีตลาดใหญ่อยู่ที่จีนและฮ่องกง ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าราว 20,000 ล้านดอลล่าร์
ผู้แทนของ UNODC ยังบอกด้วยว่าในขณะที่สหประชาชาติและองค์กรต่างๆพยายามช่วยกันพัฒนาแหล่งรายได้ทางอื่นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นในพม่าและลาว
ดูเหมือนปัญหายาเสพติดชนิดอื่น โดยเฉพาะยากระตุ้นประสาทประเภทยาบ้า กำลังกระจายวงกว้างกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)