ในปีนี้ พล.อ. เจมส์ แมททิส (James Mattis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเยือนเวียดนามสองครั้งเพื่อให้คำมั่นเกี่ยวกับการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อเวียดนาม เพื่อต้านทานการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลจากจีน รวมทั้งยังให้สัญญากับฟิลิปปินส์เรื่องการกระชับความเป็นพันธมิตรทางทหารอันยาวนานระหว่างประเทศทั้งสองด้วย
ท่าทีและคำมั่นดังกล่าวมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีที่แล้ว เป็นต้นมา
แต่นักวิเคราะห์ด้านเอเชียหลายคน เช่น นาย Sean King จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง Park Strategies ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า การลาออกจากตำแหน่งของ พล.อ. Mattis อย่างกะทันหัน ส่งผลสั่นคลอนความเชื่อมั่นดังกล่าว
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียผู้นี้บอกว่า ตนเชื่อว่าผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายคนคงอุทานในทำนองว่า “อีกแล้วหรือนี่!?” และว่าคุณสมบัติที่ พล.อ. Mattis มีอยู่ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย และในส่วนอื่นของโลก
นอกจากการมีประสบการณ์ในกองทัพสหรัฐฯ มายาวนานกว่า 40 ปีแล้ว พล.อ. Mattis ยังเป็นผู้มีความเชื่ออย่างจริงจังเรื่องความสำคัญของการทำงานร่วมมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อสร้างความมั่นคง ดังที่เห็นได้ในคำกล่าวเชิงตำหนิประธานาธิบดีทรัมป์ในจดหมายลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นต้น
อาจารย์ Huang Kwei-bo รองคณบดีคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย National Chengchi University ในกรุงไทเป ก็ชี้ว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชียรู้สึกไว้วางใจในตัวพล.อ. Mattis ดังตัวอย่างที่จะเห็นได้จากการที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ผู้นี้ เดินทางไปร่วมประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของเอเชียคือ Shangri-la Dialogue ที่สิงคโปร์ ถึงสองครั้งในช่วงสองปีที่ดำรงตำแหน่ง
ทั้งยังกล่าวยืนยันในที่ประชุมในปีนี้ว่า สหรัฐฯ จะช่วยเหลือประเทศที่เป็นหุ้นส่วนผู้ร่วมมือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลจากการแผ่อำนาจและขยายอิทธิพลของจีนด้วย
พล.อ. James Mattis ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ อย่างกะทันหันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารประมาณ 2,000 คน ซึ่งมีบทบาทในการช่วยฝึกกองกำลังท้องถิ่นเพื่อต่อต้านปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรีย ออกจากประเทศ
นาย Sean King นักวิจัยด้านเอเชีย ชี้ว่า ดูเหมือนว่าประเทศที่น่าจะคิดถึงบทบาทอิทธิพลของพล.อ. Mattis มากที่สุด คงจะเป็นเวียดนาม และว่าขณะนี้ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มุ่งหวังบทบาทของสหรัฐฯ ในเรื่องการประกันความมั่นคง ขณะที่คาดหวังจีนในด้านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
ในจดหมายลาออกถึงประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น พล.อ. James Mattis อดีตนายพลเหล่านาวิกโยธินวัย 68 ปี ระบุว่า ตนจะอยู่ในตำแหน่งถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อช่วยให้มีการส่งมอบงานของกระทรวงอย่างราบรื่น
แต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศทางทวีตว่าพล.อ. Mattis จะพ้นจากตำแหน่งหลังวันที่ 31 ธันวาคมนี้ และตนได้ตั้งนาย Patrick Shanahan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัท Boeing ให้เป็นผู้รักษาการรัฐมนตรีกลาโหม โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมศกหน้าเป็นต้นไป