หลายคนคงเริ่มสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีโฆษณาผลิตภัณฑ์ปลูกผมและคลินิกปลูกผมออกมาให้เห็นในเอเชียกันมากมาย นั่นเป็นเพราะหนุ่มๆ ในภูมิภาคนี้เริ่มมีปัญหาผมร่วงศีรษะล้าน เหมือนหนุ่มๆ ในตะวันตก ซึ่งมีผู้สรุปว่า ประชากรเพศชายราวครึ่งหนึ่งในภูมิภาคนั้นมักสูญเสียเส้นผมและกลายมาเป็นคนศีรษะล้านก่อนถึงวัยกลางคนด้วยซ้ำ
แต่ในปัจจุบัน ชายเชื้อสายเอเชียที่มีอายุไม่มาก เริ่มประสบปัญหาศีรษะใกล้ล้านมากขึ้น และปัจจัยที่คาดว่าส่งผลในเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่พันธุกรรม แต่มีทั้งความเครียด โภชนาการที่ไม่ดี การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่
และงานวิจัยล่าสุดในจีนที่สอบถามข้อมูลจากผู้ร่วมโครงการ 50,000 คน พบว่า ชายชาวจีนที่มีอายุในข่วงเลข 3 มีปัญหาผมร่วงศีรษะล้านมากกว่าคนในช่วงอายุอื่นๆ
ขณะที่รายงานจากสื่อรัฐของจีนระบุว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ที่เกิดในปี ค.ศ. 1990 หรือหลังจากนั้น ยืนยันว่าตนมีปัญหาผมบางแล้ว บริษัทสื่อ CGTN หรือที่เคยรู้จักกันทั่วโลกในชื่อ CCTV-9 และ CCTV News เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “โรคระบาด” ไปแล้ว และมีการประเมินว่า มูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการปลูกผมในจีนนั้นน่าจะพุ่งขึ้นถึง 2,900 ล้านดอลลาร์ ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่บันทึกไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วกว่า 4 เท่าเลยทีเดียว
ซีเอ็นเอ็น เปิดเผยบทสัมภาษณ์ชายชาวจีนและชายเชื้อสายเอเชียบางคน ที่ยอมรับว่า ตัดสินใจเข้ารับการบริการปลูกผมที่ประเทศไทย ซึ่งผู้รับบริการต้องใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงและเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 9,000 ดอลลาร์ หรือ เกือบ 300,000 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในจีนนั้นอาจถูกว่าถึง กว่า 80% ก็ตาม
เหตุผลที่หลายคนในเอเชียตัดสินใจหนีกระแสศีรษะล้าน เป็นเพราะสูญเสียความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะเมื่อคนส่วนใหญ่ยังยึดติดค่านิยมการมีผมเต็มศีรษะ ในช่วงที่ความนิยมการที่มีรูปลักษณ์เยาว์วัยเหมือนศิลปิน K-Pop หรือดาราฮ่องกง ยังดาษดื่นอยู่
งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในเกาหลีใต้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Dermatology พบด้วยว่า คนที่ยังมีผมเต็มศีรษะ 9 ใน10 คน มักมองผู้ชายที่มีศีรษะใกล้ล้านว่าเป็นผู้ที่มีอายุมากและไม่น่าพิสมัย และเมื่อปี ค.ศ. 2018 นี่เอง ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลีใต้ออกมาเรียกร้องให้นายจ้างทั้งหลายไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีศีรษะล้าน หลังสำนักข่าวยอนฮับ รายงานว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งขอให้ผู้มาสมัครงานรายหนึ่งใส่วิกมาสัมภาษณ์งานและสุดท้าย ปฏิเสธที่จะจ้างงานเพียงเพราะชายผู้นั้นมีศีรษะล้าน
ซาอุล เทรโฮ นักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายจีน บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในเอเชีย ผมเริ่มบางลงและเขารู้สึกค่อนข้างรำคาญใจที่เห็นว่าคนเอเชียจำนวนค่อนข้างน้อยมีศีรษะล้าน และคนในเอเชียมักไม่สงวนท่าทีที่จะเอ่ยปากทักซึ่งๆ หน้า พร้อมบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายจิตใจใดๆ แต่ก็มีผลต่อผู้ฟังไปแล้ว
นอกจากการรักษาในคลินิกแล้ว ผู้มีปัญหาบางคนได้รับคำแนะนำให้ใช้สมุนไพรต่างๆ และยาแผนโบราณเป็นทางเลือก แต่ยังไม่มีใครบอกว่าได้ผลดังหวังเลย ส่วนเทคนิค การสักไรผมกึ่งการแพทย์ หรือ Scalp micro pigmentation (SMP) ที่ว่ากันว่าเป็นที่นิยมและได้ผลดีถูกใจผู้รับบริการมากนั้น ยังเป็นปัญหาในบางแห่งที่ยังมีความคิดที่ว่า คนที่โกนหัวหรือไว้ผมทรงสกินเฮด มักเป็นสมาชิกแก๊งค์อันธพาลหรือมาเฟีย หรือเตรียมเข้าคุก
อย่างไรก็ดี วงการแฟชั่นและบันเทิงในเอเชียเริ่มเห็นคนหน้าตาดีๆ โกนหัวหรือไว้ผมทรงสกินเฮดมากขึ้นแล้ว ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ผู้ที่กำลังขาดความมั่นใจ เริ่มรู้สึกดีขึ้นและกังวลเกี่ยวกับความคิดของคนอื่นที่ยึดติดภาพลักษณ์เก่าๆ น้อยลง