ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ที่ประชุมอาเซียน' คาดหวังความคืบหน้าเรื่องข้อตกลง RCEP และทะเลจีนใต้


In this June 23, 2019, file photo, South East Asian leaders pose for a group photo during the opening ceremony of the ASEAN leaders summit in Bangkok, Thailand. (AP Photo/Gemunu Amarasinghe, File)
In this June 23, 2019, file photo, South East Asian leaders pose for a group photo during the opening ceremony of the ASEAN leaders summit in Bangkok, Thailand. (AP Photo/Gemunu Amarasinghe, File)
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:18 0:00


ในการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของสมาคมอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนกำลังพยายามผลักดันให้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคหรือ RCEP ซึ่งหากเป็นผลสำเร็จขึ้นมาก็จะทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสมาชิกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจาอีกหกประเทศ และจะครอบคลุมระบบเศรษฐกิจที่มีประชากร 45% ของโลก รวมทั้งมีผลผลิตทางเศรษฐกิจราวหนึ่งในสามของโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียเรื่องการเข้าถึงตลาด อาจทำให้ยังไม่สามารถทำความตกลงขั้นท้ายสุดได้

แต่คุณปีเตอร์ มัมฟอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Eurasia Group กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดที่ประชุมอาเซียนก็คาดหวังว่าจะมีการประกาศความคืบหน้าบางอย่างที่สำคัญเพื่อช่วยสร้างแรงผลักดันให้กับเรื่องนี้

ส่วน ศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี แห่งศูนย์อาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าความคืบหน้าของข้อตกลงการค้าเสรี RCEP นี้จะมีผลอย่างสำคัญในแง่จิตวิทยารวมทั้งจะเป็นแรงกระตุ้นสำหรับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ในเรื่องการเปิดเสรีด้านการค้าเช่นกัน

และนอกจากข้อตกลงการค้าเสรี RCEP นี้แล้ว เอกสารข้อตกลงที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือ Code of Conduct หรือแนวทางปฎิบัติในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะช่วยกำหนดกฏเกณฑ์เรื่องการคลี่คลายกรณีพิพาทต่าง ๆ ในเส้นทางเดินเรือของทะเลจีนใต้ ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนหวังว่าจะสามารถสรุปตัวร่างได้ภายในปีนี้

ผศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า น่าจะพอคาดหวังข่าวดีได้เนื่องจากมีการส่งสัญญาณที่ดีทั้งจากฝ่ายจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน

ในการประชุมสุดยอดระดับผู้นำอาเซียนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา อาเซียนได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่มุ่งจะผนวกความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย เพื่อช่วยต้านทานอิทธิพลและแรงครอบงำจากทั้งจีนและสหรัฐ

ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นหลักการที่สำคัญสำหรับภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มประเทศอาเซียนมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นและเป็นการยากด้วยที่ประเทศมหาอำนาจจะปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตาม งานสำคัญของอาเซียนก็คือต้องทำให้ประเทศมหาอำนาจผู้พยายามเข้ามามีบทบาทอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงยอมรับหลักการของเรื่องนี้ โดยกลุ่มประเทศอาเซียนอาจจะใช้โอกาสการประชุมสุดยอดต้นช่วงเดือนพฤศจิกายนเพื่อเชื่อมโยงโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของตนเข้ากับแผนงาน "หนึ่งถนนหนึ่งถนน" ของจีน ขณะที่เรียกร้องให้สหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศที่มีอิทธิพลอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในโครงการด้านสาธารณูปโภคในประเทศ เช่นกัน

คาดว่าการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพมหานคร ต้นเดือนหน้านี้ จะมีผู้นำจากหลายประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีหลี เคอ เฉียง ของจีน รวมทั้งนายอันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ และนางคริสตาลีนา จอร์จีเอวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IMF เข้าร่วมประชุมด้วย

สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันทั้งจากสถานทูตสหรัฐและจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ว่าผู้นำสหรัฐตัดสินใจจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยหรือไม่

XS
SM
MD
LG