ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตาประชุมอาเซียนที่กรุงเทพฯ กับการประลองกำลังของสองมหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ


รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ระหว่างการแถลงในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม ที่กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ระหว่างการแถลงในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม ที่กรุงเทพฯ
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:14 0:00

รัฐมนตรีต่างประเทศและนักการทูตระดับสูงจากประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก กำลังเดินทางมาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี ไปจนถึงการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

การประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จะรวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน การประชุมระดับรัฐมนตรีของ East Asia Summit และ ASEAN Regional Forum รวมทั้งการประชุมย่อยทั้งหมดรวม 27 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 - 3 สิงหาคม ซึ่งจะมีผู้แทนจาก 31 ประเทศเข้าร่วม

นอกจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวง อี้ ต่างเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และสหภาพยุโรปด้วย

ความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี

คาดว่าจุดสนใจของการประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะอยู่ที่การหารือเรื่องความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่เกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบขีปนาวุธเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และล่าสุดเมื่อเช้าวันพุธตามเวลาท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีว่าการทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือจะไม่กระทบต่อแผนการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับรัฐบาลกรุงเปียงยาง เพื่อหาทางยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยคาดว่าเกาหลีเหนือจะส่งผู้แทนมาร่วมในประชุมที่กรุงเทพฯ ด้วย

ความขัดแย้งทางการค้า ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

นอกจากนั้น คาดว่าสหรัฐฯ จะจัดประชุมนอกรอบร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศนี้ที่กำลังส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ หลังจากที่ญี่ปุ่นใช้มาตรการห้ามขายอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัทเกาหลีใต้

โดยก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้ได้ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกว่า มาตรการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ดังกล่าวของญี่ปุ่นมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อตอบโต้การที่ศาลสูงของเกาหลีใต้มีคำสั่งให้บริษัทญี่ปุ่นที่เคยบังคับใช้แรงงานของเกาหลีใต้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียหาย

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงตลอดในการประชุมอาเซียนครั้งก่อนๆ คือการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทยาวนานในภูมิภาคนี้ และยิ่งตึงเครียดขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้ หลังจากเวียดนามกล่าวหาจีนว่าละเมิดอธิปไตยของเวียดนาม ด้วยการขัดขวางการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้

และเมื่อเดือนที่แล้ว จีนก็เพิ่งเกิดความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์หลังจากที่เรือประมงจีนชนกับเรือประมงฟิลิปปินส์ในน่านน้ำดังกล่าว และทิ้งให้ลูกเรือชาวฟิลิปปินส์ 22 คนต้องพยายามว่ายน้ำหนีเรือที่กำลังจมลงในน่านน้ำดังกล่าว

แต่นักวิเคราะห์คาดว่า อาเซียนจะไม่มีแถลงการณ์ใดๆ ร่วมกันในเรื่องทะเลจีนใต้ เนื่องจากมีบางประเทศ เช่น กัมพูชาและลาว ที่เป็นพันธมิตรของจีน และไม่ต้องการแสดงจุดยืนที่ต่อต้านจีนในเรื่องนี้

สงครามการค้า กับการประลองกำลังระหว่างสองมหาอำนาจ

การประชุมอาเซียนครั้งนี้มีขึ้นขณะกำลังเกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ

ที่ผ่านมา จีนพยายามขยายอิทธิพลทางการค้าและเศรษฐกิจผ่านโครงการหนึ่งถนน-หนึ่งวงแหวน ด้วยการให้เงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ

ในขณะที่สหรัฐฯ ก็พยายามวางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "การเปิดเสรีภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก" ซึ่งถูกต่อต้านจากทางการกรุงปักกิ่ง

เมื่อเดือนที่แล้ว บรรดาผู้นำอาเซียนได้มีแถลงการณ์ร่วมเรื่อง "มุมมองของอาเซียนที่มีต่อ อินโด-แปซิฟิก" ที่พยายามหาทางสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจสองประเทศนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของอาเซียนในการสร้างอำนาจต่อรองบนเวทีโลก เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างกำลังต้องการเสียงสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ของตัวเอง ซึ่งมีอาเซียนเป็นกลไกสำคัญ

XS
SM
MD
LG