ขณะที่กำลังเกิดความหวังของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศคู่ค้า ต่อความพยายามสรุปความตกลงหุ้นส่วนทาง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า กลุ่มการค้าที่อาจเกิดขึ้นมีความเสี่ยงจากการถูกตอบโต้จากสหรัฐฯ และจากความสลับซับซ้อนของประเด็นภายในอาร์เซ็ปเอง
ปัจจุบันอเมริกากำลังขัดแย้งทางการค้าอย่างต่อเนื่องกับจีน ซึ่งเป็นหนึ่งประเทศคู่ค้าภายใต้อาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership)
กรอบความรวมมือซึ่งถูกริเริ่มขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงไทย และหุ้นส่วนทางการค้าอีก 6 ชาติ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
หากพิจารณาถึงขนาดเศรษฐกิจรวม ประเทศเหล่านี้ มีจีดีพี (Gross domestic product) คิดเป็นร้อยละ 32 ของโลก และมีการค้าระหว่างกันคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของการค้าโลก
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาคมอาเซียนว่า น่าจะมีการสรุปการเจรจาอาร์เซ็ปได้ก่อนสิ้นปีนี้
อาจารย์ สจ๊วต ออร์ ที่สอนวิชากฎหมายและธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัย Deakin University ในออสเตรเลีย กล่าวว่าเป็นที่เข้าในได้ว่า ภายในอาเซียน มีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าจากสหรัฐฯ ที่อาจกระทบกับประเทศสมาชิก
เขาเสริมว่าการก่อตั้งอาร์เซ็ปจะลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ขณะที่จะมีการสร้างระบบของตลาดที่มีการประสานงานกันของอาเซียนเอง
เมื่อเดือนที่แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ ขู่ว่าจะเพิ่มการใช้มาตรการลงโทษทางภาษีต่อสินค้าจากประเทศจีน มูลค่ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการยกระดับความขัดแย้งทางกาค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจที่กินเวลามา 18 เดือนแล้ว
ท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจีนให้ความหวังกับอาร์เซ็ปเช่นกัน
สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กว่าสองในสามของการเจรจาเรื่องการเข้าถึงตลาดระดับทวิภาคีภายใต้กรอบอาร์เซ็ป หาข้อสรุปได้แล้ว และน่าจะมีการสานต่อการเจรจาอย่างแข็งขันต่อไปจากนี้
นอกจากเรื่องการค้าเสรี และการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก อาร์เซ็ปยังครอบคลุม เรื่องกฎหมายแรงงาน สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ประเทศสมาชิกต้องหารือกัน
ราจีฟ บีสวาส หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ ของ IHS Markit ที่สิงคโปร์กล่าวว่า ความหวังที่จะให้เกิดข้อสรุปอย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะอาร์เซ็ปมีหัวข้อในการเจรจา 18 หัวข้อ แต่มีเพียง 7 หัวข้อที่ได้รับความตกลงไปเท่านั้น
เขากล่าวว่าหากพิจารณาถึงเวลาที่ใช้ในการผลักดันให้เกิดกฎหมายรองรับอาร์เซ็ปในแต่ละประเทศ ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลานาน ดังนั้นการรีบเร่งสรุปกรอบอาร์เซ็ปจึงดูไม่สมเหตุสมผลตามสถานการณ์จริง
ความล่าช้าอีกประการหนึ่งอาจมาจากอินเดีย
ราจีฟ บีสวาส แห่ง IHS Markit ระบุว่าอินเดียยังคงไม่ผลักดันการเจรจาอาร์เซ็ปเพราะ กังวลเรื่องสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน และการแข่งขันในภาคการผลิตจากแดนมังกร
นักวิเคราะห์ โอห์ ไอ ซุน แห่งสถาบัน Institute of International Affairs ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า อินเดียประเทศเดียวสามารถชะลอการเจรจาของอีก 15 ประเทศในกลุ่ม แม้ว่า จีนและอาเซียนแทบจะเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการเข้าถึงตลาดและการค้าที่เสรี
สถาบัน Brookings ที่กรุงวอชิงตันเปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า หากเกิด อาร์เซ็ปขึ้นจริงตามเป้าหมายคือ ในอีก 11 ปีจากนี้ กลุ่มประเทศอาร์เซ็ปซึ่งมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 47 ของโลก จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 286,000 ล้านดอลลาร์ให้กับเศรษฐกิจโลกต่อปี